TBCSD เดินหน้าภารกิจขับเคลื่อนธุรกิจต้นแบบ ตอบโจทย์ทิศทางพัฒนาประเทศไทย-เปลี่ยนผ่านสู่โลกที่ยั่งยืน
ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจดังกล่าวเป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนในอนาคต
TBCSD รวมพลังสร้างสมดุลเศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม :
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 28 ปี TBCSD ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคธุรกิจชั้นแนวหน้าของประเทศไทยที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนกว่า 40 องค์กร และด้วยความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งขององค์กรสมาชิก และการทำงานร่วมกันกับองค์กรพันธมิตร TBCSD จึงสามารถยกระดับภาคธุรกิจไทยให้ดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน และสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการไปพร้อม ๆ กับการขยายกรอบการทำงานเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาระดับชาติด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ในปี 2564 TBCSD ได้ร่วมส่งเสริมภาคธุรกิจด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และขยายกรอบการทำงานเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ (Country Issue) ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ PM2.5 Climate Change ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และความหลากหลายทางชีวภาพ
โดยร่วมกันวางแผนการดำเนินงานสำหรับภาคเอกชนไทยเพื่อเป็นต้นแบบที่ดี การทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม การดำเนินงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งในปี 2565 บทบาทของ TBCSD จะเข้มข้นและแข็งแกร่งมากขึ้น โดยจะเดินหน้าสร้างสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยพันธกิจในการส่งเสริมให้ธุรกิจในประเทศไทยมีความยั่งยืนและประสบความสำเร็จ เพื่อช่วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกที่ยั่งยืน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “บทบาทภาคเอกชนกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13” ว่า ความท้าทายในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ได้ตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับแนวทางการพัฒนาประเทศให้สมดุลและยั่งยืนยิ่งขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ
ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่ ‘สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน’ ซึ่งภาคเอกชนเป็นหุ้นส่วนสำคัญที่จะช่วยเร่งรัดให้เกิดความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
5 องค์กรพันธมิตรหนุนสร้างความยั่งยืนภาคธุรกิจไทย :
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. ให้ความร่วมมือกับ TBCSD อย่างเต็มที่ในการส่งเสริมภาคธุรกิจไทยให้ดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความยั่งยืน เช่น สนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและระบบโลจิสติกส์ การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและของเสียอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและพัฒนาแพลตฟอร์มการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและผลิตภัณฑ์พลอยได้ เพื่อนำของเสียเข้าสู่ระบบการจัดการที่เป็นรูปธรรม นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ สนับสนุนการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมทั้งส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าฯ มุ่งเน้นภารกิจในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสนองตอบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในทุกมิติ รวมถึงการดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจัดโครงการความร่วมมือการรับซื้อฟางข้าว ใบอ้อย และซังข้าวโพด เพื่อลดปัญหา PM2.5 และภาวะโลกร้อน โดยคาดหวังว่าสมาชิกของ TBCSD ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจขนาดใหญ่ระดับประเทศ และมีองค์กรที่เป็นศูนย์รวมธุรกิจที่หลากหลายจะสร้างพลังการขับเคลื่อนธุรกิจและประเทศไทยให้ก้าวหน้าสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืน
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ได้ร่วมส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทยในมิติต่าง ๆ และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจในตลาดทุนดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 โดยสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านการทำกิจกรรมและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อนำพาธุรกิจสู่ความยั่งยืน
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ให้มีระบบและกลไกในการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาลอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัว เติบโต และแข่งขันได้ในระดับสากล สอดคล้องกับพันธกิจของ TBCSD ที่มุ่งส่งเสริมให้ธุรกิจไทยมีความยั่งยืนและประสบความสำเร็จ เพื่อช่วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการสร้างความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมในภาคธุรกิจ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้ธุรกิจไทยในเวทีโลก
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกรวนที่เกิดจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน ซึ่งองค์บริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกฯ ได้ส่งเสริมความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในระดับองค์กร และได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ TBCSD เพื่อช่วยกันสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรภาคธุรกิจในประเทศไทย รวมถึงยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจกและขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการเป็น Net Zero ได้ตามเป้าหมาย
ด้วยจุดยืนของ TBCSD กับบทบาทการเป็น “ผู้นำ” และความร่วมมืออย่างเข้มแข็งขององค์กรสมาชิก การทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศเพื่อยกระดับภาคธุรกิจไทยด้านความยั่งยืนที่ทันกระแสโลก และตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาของประเทศ จึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
ที่มา their.net
วันที่ 10 มกราคม 2565