ถอดบทเรียนเวียดนาม แก้โรค ASF ระบาด อย่างไร?

เวียดนามรับมืออย่างไร หลังเผชิญการระบาดของอหิวาห์แอฟริกาในสุกร
 
วันที่ 11 มกราคม 2565 ท่ามกลางราคาหมูในไทยที่กำลังทะยานพุ่งสูงขึ้น จนส่อแววว่าผู้บริโภคอาจได้เห็นราคาหมูที่จำหน่ายในตลาดแตะกิโลกรัมละ 300 บาท ช่วงเทศกาลตรุษจีน ที่ความต้องการหมูสูงขึ้นเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (ASF) จนเกษตรกรรายย่อยผู้เลี้ยงหมูต้องทำลายหมูของตนเองทั้งฟาร์มเพื่อตัดวงจร ขณะที่หน่วยงานภาครัฐซึ่งดูแลเรื่องนี้โดยตรงอย่าง “กรมปศุสัตว์” เพิ่งจะออกมายอมรับความจริงว่ามีการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทย
 
แม้สถานการณ์หมูแพงในไทยยังไม่มีวี่แววจะแก้ไขได้ ทว่าตรงข้ามกับสถานการณ์ราคาหมูในชาติเพื่อนบ้านอาเซียนอย่าง “เวียดนาม”
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ vietnamnews รายงานเมื่อวันที 8 มกราคม 2565 ระบุว่า ราคาหมูในเวียดนามช่วงเทศกาลตรุษจีนไม่มีแนวโน้มว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาหมูในเวียดนามค่อยๆปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา โดยจากการแถลงของกรมปศุสัตว์ภายใต้กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทชี้ว่า แม้เวียดนามยังคงพบการระบาดของโรค ASF ในบางพื้นที่แต่ก็ไม่ทำให้ราคาเนื้อหมูช่วงเทศกาล Tết หรือตรุษจีนพุ่งสูงขึ้น
 
นาง Hoàng Thị Vân ผู้เชี่ยวชาญจาก Institute of Economics and Finance เชื่อว่า เวียดนามซึ่งมีการคลายมาตรการโควิด ผ่อนคลายกิจการร้านค้าร้านอาหารตามเมื่อใหญ่ อาจทำให้ราคาหมูของเวียดนามช่วงไตรมาสแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่จะไม่เกินที่ 65,000 ดอง/กก. หรือราว 96 บาท แม้ว่าโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรยังไม่ได้รับการควบคุมอย่างสมบูรณ์ และเสี่ยงต่อการระบาดของโรคอีกครั้งก็ตาม
 
สอดคล้องกับรายงานข่าวจากเว็บไซต์  vietnamagriculture.vn ซึ่งระบุว่า จากการลงพื้นที่สำรวจตลาดของสื่อเวียดนามในวันแรกของปี 2565 พบว่า ราคาสุกรมีชีวิตในแถบภาคเหนือของประเทศ มีราคาสูงกว่าพื้นที่อื่น  โดยมีราคาสูงสุดอยู่ที่ 48,000 ดอง/กก. ใน 3 จังหวัดคือ นิญบิ่ญ ฮานาม และ ไทเหงียน
 
ขณะที่บางพื้นที่ราคาสุกรมีชีวิตลดลงเหลือ 45,000 ดอง/กก. ในฟู่ โถ, 46,000 ดอง/กก. ที่ ตูเยนกวาง ส่วนจังหวัดอื่นๆทางตอนเหนือ ราคาอยู่ระหว่าง 46,000 – 47,000 ดองเวียดนาม/กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่พบบ่อยที่สุดในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง อ้างอิงข้อมูลจากกรมปศสัตว์เวียดนาม (MARD)  ราคาเฉลี่ยของสุกรมีชีวิตในแถบภาคกลางและภาคใต้ของประเทศ อยู่ที่ระหว่าง 47,000 – 48,000 ดอง/กก. ซึ่งเป็นการการลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
ผู้เชี่ยวชาญเวียดนามยังระบุอีกว่า ราคาเฉลี่ยสุกรมีชีวิตแถบภาคเหนือตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 49,500 ดอง/กก. ลดลง 39.6% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2564 ส่วนภาคใต้ ราคาสุกรมีชีวิตเฉลี่ยเดือนธันวาคม 64 อยู่ที่ 49,000 ดอง/กก. ลดลง 38% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2564
 
เวียดนามพบ ASF เมื่อใด?
 
กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) รายงานต่อองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ยืนยันพบโรค ASF ระบาดอย่างเป็นทางการเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ในพื้นที่มากกว่า 6,000 ชุมชนจาก 500 อำเภอ ใน 62 จังหวัด ช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2562 เวียดนามต้องทำลายหมูที่ติดเชื้อรวมกว่า 4,307 ตัน จากเกษตรกรรายย่อยจำนวน 5,422 ราย ภาครัฐจ่ายชดเชยกว่า 170 พันล้านดอง
 
เวียดนามมี 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้ ASF แพร่ในประเทศคือ ด้วยพรมแดนยาวต่อเนื่องหลายพันกิโลเมตรทำให้หมูผิดกฎหมายข้ามผ่านแดนเข้ามาแปรรูปในประเทศ, ผู้คนนับล้านในแต่ละปีที่เดินทางเข้าออกประเทศลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมูเข้ามายังเวียดนาม ขณะที่การพบ ASF ในเวียดนามเกือบทั้งหมดพบในฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพต่ำ แต่ไม่พบการระบาดในฟาร์มเชิงพาณิชย์
 
รัฐบาลจัดการอย่างไร :
 
แม้เวียดนามจะยืนยันพบระบาดอย่างเป็นทางการต่อ FAO ทว่าเวียดนามพบ ASF ในประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 แล้ว อ้างอิงจากรายงานที่เวียดนามสรุปต่อ องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) กรมปศุสัตว์เวียดนามเริ่มลงมือมาตรการควบคุมและป้องกันโรค ASF ทั้งประเทศ เหงียนซวนฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามในขณะนั้น เรียกประชุมด่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งลงพื้นที่เพื่อรับมือสถานการณ์ด้วยตนเอง
 
ทันทีที่พบการระบาดคณะกรรมกรประชาชนท้องถิ่นของแต่ละจังหวัดในเวียดนาม ลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บสถิติหมูที่เสี่ยงติดเชื้อ และจำนวนหมูที่ยังคงปลอดเชื้อ โดยมีการคัดแยกเพื่อทำลายทันที ทั้งออกกฎเข้มงวดห้ามเคลื่อนย้ายสุกรออกจากพื้นที่โดยเฉพาะแหล่งที่พบการระบาด ขณะเดียวกันหน่วยงานท้องถิ่นรณรงค์ให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับการพบโรค ASF พร้อมสร้างความเข้าใจเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อหมู
 
นอกจากกักกันโรคทางชายแดน เวียดนามสั่งห้ามการขนส่ง การค้า การฆ่า และการบริโภคสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรที่ไม่ทราบแหล่งที่มาทุกรูปแบบโดยเด็ดขาด ปศุสัตว์เวียดนามยังสั่งให้เกษตรกรรายย่อยใช้แหล่งน้ำจากบ่อขุดหรือบ่อเจาะบาดาลเท่านั้น ห้ามใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพิ่มความต้านทานของสุกรโดยการเพิ่มวิตามิน อิเล็กโทรไลต์ และผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพในอาหาร
 
ด้วยการยอมรับแต่เนิ่นๆ ประกอบกับมาตรการอันเข้มงวด ทำให้ในปี 2564 แม้เวียดนามยังคงพบ ASF ระบาด ทำให้สุกรไม่น้อยกว่า 86,000 ตัว หรือคิดเป็น 1.5% ของสุกรที่คัดออกมาในปีก่อนหน้าต้องถูกทำลาย แต่ถือเป็นจำนวนลดลงจากหมูที่ต้องทำลายในปีก่อนหน้า เหตุที่ยังคงพบระบาดเนื่องจากฟาร์มส่วนใหญ่ในประเทศเป็นผู้เลี้ยงรายย่อย ทำให้พบการระบาดในระดับย่อมบางพื้นที่เป็นระยะ
 
สถิติอย่างเป็นทางการระบุว่าสิ้นสุด ณ ธันวาคม 2563 ทั้งประเทศมีหมูราว 27.3 ล้านตัว คิดเป็นประมาณร้อยละ 88.7 ของระดับก่อนเกิด ASF ระบาด แม้ว่าอุตสาหกรรมสุกรของเวียดนามกำลังฟื้นตัว แต่ก็ยังไม่ถึงระดับก่อนเกิด ASF เนื่องจากยังคงมีความท้าทายอย่างต่อเนื่องกับ ASF การผลิตเนื้อหมูของเวียดนามคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2564 ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากหมูลดลงกว่าในปี 2563
 
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติทั่วไปรายงานว่าสุกรมีชีวิตรอชำแหละปี 2564 อยู่ที่ 4.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.6% จากปีก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 มีการนำเข้าสุกรเป็นๆประมาณ 350,000 ตัวจากต่างประเทศเพื่อชำแหละ เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 เพื่อทดแทนจำนวนสุกรที่ติดโรคในประเทศ กรมปศุสัตว์ระบุว่าสาเหตุของราคาสุกรที่ทยอยถูกลงคืออุปทานที่สูงขึ้น
 
ประกอบกับภาวะค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนตึงตัวอันเป็นผลจากโควิดระบาด และปัจจัยการเลี้ยงซ้ำในช่วงสองปีที่ผ่านมาเพื่อทดแทนหมูติดโรคประสบความสำเร็จ ทำให้ปัจจุบันเวียดนามมีจำนวนสุกรทั่วประเทศมีมากกว่า 28 ล้านตัว รวมทั้งแม่พันธุ์สุกรอย่างน้อย 3 ล้านตัว’
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 11 มกราคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)