CEO ไฟเซอร์คาด โลกได้กลับใช้ชีวิตปกติจากโควิดในครึ่งแรกของปีนี้
หลังโรคโควิด-19 ระบาดมาแล้วกว่า 2 ปี ผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตวัคซีนไฟเซอร์คาดการณ์ว่า โลกน่าจะกลับสู่การใช้ชีวิตได้อย่างปกติในฤดูใบไม้ผลิ หรือช่วงเดือนมี.ค.ถึงมิ.ย. ปีนี้ จากความคืบหน้าทั้งในแง่วัคซีนและยารักษาโรค
นายอัลเบิร์ต เบอร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไฟเซอร์ ผู้ผลิตวัคซีนและยารักษาโควิด-19 เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เลอ ฟิกาโร ของฝรั่งเศสเมื่อเร็ว ๆนี้ว่า เขาเชื่อว่าผู้คนจะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ในฤดูใบไม้ผลิ (มี.ค.-มิ.ย.) ของปีนี้ หลังจากที่ต้องเผชิญกับโรคโควิด-19 ระบาดมานานกว่า 2 ปี
ผู้บริหารของไฟเซอร์ระบุว่า ปริมาณการทดสอบหาเชื้อ, การฉีดวัคซีน และการรักษาใหม่ ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 ระบาด ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนในสหรัฐไปแล้วราว 850,000 ราย
ในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้อนุมัติการใช้ ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ของบริษัทไฟเซอร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยผู้ติดเชื้อที่รับประทานยาดังกล่าวมีแนวโน้มเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตลดลงเกือบ 90%
ล่าสุด ไฟเซอร์ประกาศวานนี้ (17 ม.ค.) ว่า บริษัทได้เตรียมสร้างโรงงานผลิตยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ซึ่งเป็นยาต้านโควิด-19 ชนิดรับประทานเพิ่มอีก 1 แห่งในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนในฝรั่งเศสตลอด 5 ปีข้างหน้า ด้วยงบประมาณลงทุนกว่า 520 ล้านยูโร (594 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
การตัดสินใจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ของไฟเซอร์ที่ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตยาแพ็กซ์โลวิดทั่วโลก โดยก่อนหน้านี้ ไฟเซอร์เปิดเผยผลการทดลองทางคลินิกระบุว่า ยาแพ็กซ์โลวิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้มากกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ โดยสามารถลดความเสี่ยงได้มากถึง 88%
ทั้งนี้ การลงทุนในขั้นต้นจะเกี่ยวข้องกับการผลิตสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (API) สำหรับยาแพ็กซ์โลวิด ณ โรงงานของกลุ่มบริษัท โนวาเซ็ป (Novasep) ของฝรั่งเศส
โฆษกของไฟเซอร์กล่าวว่า โรงงานของ Novasep ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสจะถูกผนวกรวมเข้ากับซัพพลายเชนของยาแพ็กซ์โลวิดทั่วโลกในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และทางบริษัทยังมีแผนจะขยายโรงงานผลิตแห่งอื่น ๆ เพิ่มเติมในปีหน้า (2566)
ก่อนหน้านี้ FDA ได้อนุมัติยาแพ็กซ์โลวิดสำหรับการใช้งานเป็นกรณีฉุกเฉินเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่องค์การยาแห่งยุโรป (EMA) มีแนวโน้มประกาศการตัดสินใจเกี่ยวกับการอนุมัติใช้ยาดังกล่าวในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 18 มกราคม 2565