อินเดียทุ่มหมื่นล้านดอลล์จูงใจบ.ชิพโลกตั้งฐานการผลิต
รัฐบาลอินเดียเพิ่มแรงจูงใจบริษัทชิพจากทั่วโลกเป็น 10,000 ล้านดอลลาร์หลังล้มเหลวดึงดูดผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศช่วงก่อนหน้านี้ ขณะซัมซุงทำยอดขายชิพทั่วโลกปี2564 ได้แซงหน้าอินเทล
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดีย ปูพรมแดงต้อนรับบรรดาผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จากทั่วโลกด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 760,000 ล้านรูปี (10,200 ล้านดอลลาร์)ตามแผนผลักดันให้ประเทศก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง
แผนนี้ผ่านการรับรองจากคณะรัฐมนตรีของนายโมดิเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมาและเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ซึ่งอินเดีย ก็เหมือนประเทศอื่นๆที่ดำเนินนโยบายสนับสนุนให้มีการผลิตชิพในประเทศมากขึ้นลดการพึ่งพาชิพจากต่างประเทศ
มาตรการจูงใจใหม่นี้ครอบคลุมต้นทุนเบื้องต้นในการตั้งฮับผลิตชิพในประเทศประมาณ 50% และครอบคลุมขั้นตอนต่างๆในการผลิตชิพ ซึ่งรัฐบาลอินเดียจะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆของรัฐบาล เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมไฮ-เทค ที่มาพร้อมระบบบำบัดน้ำเสีย มีกระแสไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอและมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ อินเดียยังให้ความช่วยเหลือในส่วนของงานหลังบ้านแก่บรรดาโรงงานผลิตชิพทั้งหลาย ทั้งในส่วนของการประกอบและการทดสอบ ทั้งยังให้การสนับสนุนบรรดาสตาร์ทอัพด้านการออกแบบชิพและบ่มเพาะบุคลากรให้มีความสามารถมากขึ้น เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ครอบคลุมใช้ได้ในทุกอุตสาหกรรมในประเทศ
นี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกของอินเดียที่ดึงดูดบรรดาผู้ผลิตชิพให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศแต่ที่ผ่านมา มีผู้เล่นไม่กี่รายที่แสดงความสนใจอย่างแรงกล้าที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในอินเดีย
“นับจนถึงตอนนี้ถือได้ว่าเราได้รับการตอบสนองค่อนข้างดีมาก บรรดาผู้เล่นรายใหญ่ๆในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลกทุกแห่ง เริ่มมาคุยกับหุ้นส่วนชาวอินเดีย บางรายต้องการเข้ามาตั้งหน่วยงานที่นี่โดยตรงก็มี”อัชวินิ ไวชนอว์ รัฐมนตรีกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศของอินเดีย ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์ก หลังจากมีการประกาศมาตรการจูงใจนี้ออกมา
รัฐมนตรีกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศของอินเดีย คาดการณ์ว่าภายในสองหรือสามปีนี้ จะมีโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์หลายแห่งที่เริ่มเดินสายการผลิต และโรงงานผลิตหน้าจอแสดงผลแห่งหนึ่งในอินเดียก็ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ แซงหน้าอินเทลก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตชิพชั้นนำของโลกในแง่ของรายได้เมื่อปีที่แล้ว อานิสงส์จากความต้องการชิพความจำทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น
การ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยในสหรัฐระบุว่า รายได้ในส่วนของเซมิคอนดักเตอร์ของซัมซุงเพิ่มขึ้น 31.6% ในปี2564 เป็น 75,900 ล้านดอลลาร์ ส่วนยอดขายจากธุรกิจชิพความจำของซัมซุงเพิ่มขึ้น 34.2% เมื่อปีที่แล้วเพราะความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับครัวเรือนเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับยอดขายของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆรวมทั้งเซอร์เวอร์ก็เพิ่มขึ้น
การ์ทเนอร์ ระบุว่า ตลาดเซมิคอนดักเตอร์โดยรวมทั่วโลกขยายตัว 25.1% เป็น 583,500 ล้านดอลลาร์โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก
ขณะที่รายได้ของอินเทล ผู้ผลิตชิพชั้นนำสัญชาติสหรัฐ ซึ่งร่วงลงไปอยู่อันดับ2 ขยายตัวแค่ 0.5% เป็น 73,100 ล้านดอลลาร์ โดยยอดขายของอินเทลเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชลอตัวมากที่สุดในบรรดา25บริษัทชั้นนำท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดเซอร์เวอร์ ซีพียู ซึ่งเป็นจุดแข่งของอินเทล
ส่วนคู่แข่งโดยตรงอย่างเอเอ็มดี ผู้ผลิตชิพสัญชาติสหรัฐ ขยับขึ้นมาจากอันดับ14 เป็นอันดับ10 มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นและควอลคอมม์ของสหรัฐและมีเดียเท็ก ของไต้หวัน ซึ่งต่างก็ผลิตชิพให้แก่อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่อันดับ5และอันดับ7ตามลำดับ
ขณะที่หัวเว่ย ซึ่งกลายเป็นเหยื่อกรณีพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้น ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ซบเซาอย่างหนัก รายได้ของบริษัทไฮซิลลิคอน เทคโนโลยีส์ หน่วยงานในเครือที่ผลิตชิพของหัวเว่ย ร่วลงเหลือประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 เทียบกับ 8,200 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 21 มกราคม 2565