เมื่อ “โอมิครอน” เขย่าเศรษฐกิจโลก
ในทางวิทยาศาสตร์ เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ โอมิครอนแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เร็วที่สุดในบรรดาสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิดทุกตัว โดยมีคุณสมบัติสำคัญก็คือความสามารถในการหลีกเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ทั้งที่เคยผ่านการฉีดวัคซีนมาแล้ว และแม้แต่ผู้ที่เคยผ่านการติดเชื้อมาแล้ว ก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีกครั้งแต่แพร่ได้เร็ว ก็สามารถลดหายไปได้เร็วเช่นเดียวกัน
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า “โอมิครอน” จะแพร่ระบาดสูงสุดในพื้นที่อย่างยุโรป และสหรัฐอเมริกา ในราว ๆ กลางเดือนมกราคม อัตราการติดเชื้อจะค่อย ๆ ลดลง อย่างช้า ๆ ในตอนแรก ก่อนที่จะหดหายไปอย่างฮวบฮาบในเวลาต่อมา
ตรงกันข้ามกับความเร็วในการแพร่ระบาด อัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโอมิครอน กลับไม่รุนแรงเท่าเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เคยได้รับวัคซีนและไม่มีโรคประจำตัว
นั่นทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางคนคาดหวังว่า โอมิครอนไม่ควรสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลกมากมายนัก
แต่เอาเข้าจริง กลับไม่เป็นเช่นนั้น “โอมิครอน” ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก ไม่น้อยไปกว่าการระบาดของเดลต้า หรืออาจจะหนักหน่วงกว่าด้วยซ้ำไป
รายงานการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจโลกล่าสุดของธนาคารโลก เมื่อ 11 มกราคมที่ผ่านมา ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลง เหลือเพียง 4.1% เมื่อเทียบกับ 5.5% ในปี 2021 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะลดลงไปอีกในปี 2023 เหลือเพียง 3.2%
ที่ต้องจับตาดูก็คือ รายงานภาพรวมเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่กำหนดจะเผยแพร่ในวันที่ 25 มกราคมนี้ว่า จะปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกที่คาดไว้เดิมว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4.9% ลงมามากน้อยเพียงใด
ทางด้าน “โกลด์แมน แซกส์” ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา จากเดิม 4.2% เหลือเพียง 3.8% เท่านั้น
เหตุผลหลักของการปรับลดประมาณการเหล่านี้หนีไม่พ้นเรื่องของการแพร่ระบาดของโอมิครอนนั่นเอง
โอมิครอนยังส่งผลกระทบทางจิตวิทยาของนักลงทุนในตลาดหุ้นตลาดเงินอย่างมาก “เดวิด คอสติน” หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์สหรัฐอเมริกาของโกลด์แมน แซกส์ ชี้ว่า ความไม่แน่นอนที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโอมิครอน เมื่อบวกกับภาวะเงินเฟ้อและการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินการคลังจะส่งผลอย่างหนักต่อตลาด
โกลด์แมน แซกส์ คาดว่า ตลอดทั้งปี 2022 นี้ ดัชนีเอสแอนด์พี 500 จะไต่ขึ้นไปอยู่ที่ 5,100 จุด ในตอนสิ้นปี ขยายตัวแค่ 7% ซึ่งเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวในปี 2021 ถึง 28.7%
ที่น่ากังวลอย่างหนักก็คือ ผลกระทบที่โอมิครอนก่อให้เกิดขึ้นกับตลาดแรงงาน การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโอมิครอน ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่เกิดขึ้นในระบบการจ้างงาน เมื่อภาวะดีมานด์และซัพพลายลดลงพร้อม ๆ กัน อันเนื่องมาจากสิ่งที่เรียกว่า “ควอรันทีนเอฟเฟ็กต์”
สตีเฟน จูโน นักเศรษฐศาสตร์ประจำแบงก์ออฟอเมริกา อธิบายว่า แรงงานหรือพนักงานที่ติดเชื้อจะถูกกักตัว ไม่ได้ทำงานตามปกติ แต่ยังคงสถานะการจ้างงานอยู่ต่อไป ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับการผลิต แต่ไม่ได้ส่งผลต่ออัตราการว่างงานแต่อย่างใด
แบงก์ออฟอเมริกาประเมินว่า เมื่อโอมิครอนแพร่ระบาดถึงระดับสูงสุดนั้น จะมีแรงงานอเมริกันถูกกักตัวจากการติดเชื้อมากถึงกว่า 4 ล้านคน
โดยภาพรวมทั่วโลกนั้น ภาวะ “ควอรันทีนเอฟเฟ็กต์” จะก่อให้เกิดปัญหาห่วงโซ่ซัพพลายตามมา โดยเฉพาะในประเทศที่การแพร่ระบาดของโอมิครอน ทำให้จำเป็นต้องหันมาใช้มาตรการล็อกดาวน์เกิดขึ้น
การกักตัวและการล็อกดาวน์จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมใด ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ในพื้นที่ใดและประเทศใด แต่โดยรวมแล้วนักวิเคราะห์ของ “แบงก์ออฟอเมริกา” เชื่อว่า ผลกระทบจะเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ จากภาคอุตสาหกรรมหนึ่งไปยังอีกภาคอุตสาหกรรมอื่น
และเนื่องจากในเอเชียหลายประเทศ อาทิ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และ 10 ชาติอาเซียนยังเพิ่งเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโอมิครอน ดังนั้น ปัญหาซัพพลายเชนจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องไป อย่างน้อยจนกระทั่งถึงกลางปี หรือปลายปีนี้ด้วยซ้ำไป
แม้ว่าในเวลานั้นการแพร่ระบาดของโอมิครอนในซีกโลกตะวันตกจะเบาบางลงมากแล้วก็ตามที
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 21 มกราคม 2565