หอการค้าไทย จับมือ 22 บิ๊กเอกชน สานต่อโครงการ Big Brother ช่วยเอสเอ็มอี

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ภายใต้เป้าหมาย 2 ประการคือ 1 การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ 2 การลดความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมา หอการค้าไทยได้ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อปลดล็อคประเด็นเครดิตบูโร 
 
ตลอดจนมีข้อเสนอเพื่อให้ภาครัฐลดกฎระเบียบ ที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก โดยร่วมกับธนาคารออมสิน จัดโครงการสินเชื่อสำหรับสมาชิกหอการค้า วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท และยังได้ร่วมกับ สสว. ในการพัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูลผู้ประกอบการด้วยการจัดทำ Big Data เพื่อเป็นแนวทางสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการตามความต้องการได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด
 
“ต้องยอมรับว่าภายใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เรากำลังเผชิญกับความท้าทายและความผันผวนที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับตัว และหากโอกาสใหม่ ๆ นำเอา Digital Transformations มาใช้ในการต่อยอดและขับเคลื่อนธุรกิจ” นายสนั่น กล่าว
 
นอกจากนี้ โครงการ Big Brother เป็นหนึ่งในโครงการของหอการค้าไทยที่เราให้ความสำคัญ แนวทางการช่วยเหลือแบบพี่ช่วยน้อง มีบริษัทขนาดใหญ่มาเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำการดำเนินกิจการกับบริษัทน้อง ซึ่งเราพิสูจน์มาแล้วกว่า 5 Season ว่าสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยให้ธุรกิจของบริษัทน้องเลี้ยง สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง โดยหอการค้าไทย พร้อมสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการ Big Brother ร่วมกับหน่วยงานพี่เลี้ยงอีก 22 หน่วยงาน อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การทำงานในลักษณะ Connect the Dots เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เติบโตอย่างยั่งยืน และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
 
นายพลิษศร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการเพิ่มความเข้มแข็งให้สมาชิก กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกบริษัทต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าบริษัทเล็ก หรือบริษัทใหญ่ ต่างก็ได้รับผลกระทบการดำเนินธุรกิจในช่วงเวลาที่ผ่านมาต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวให้เข้ากับสถานะการณ์ด้วยความรวดเร็ว เพื่อให้สามารถรักษาสัดส่วนการเติบโตของธุรกิจให้ได้มากที่สุด
 
สำหรับผลสำเร็จของโครงการ Big Brother Season 5 ที่ได้รวบรวมโดย ศูนย์ SME มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จากบริษัทน้องเลี้ยง ทั้งหมด 36 บริษัท ที่เข้าร่วมกิจกรรมการให้คำปรึกษาภายใต้โครงการฯ พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs 35 ราย (ร้อยละ 97.22) ได้รับผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจากโครงการ ที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านรายได้ที่สามารถประเมินเป็นมูลค่าของรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งเป็นด้านที่มีสัดส่วนของผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการมากที่สุด จำนวน 20 ราย (คิดเป็นร้อยละ 57.14) รวมไปถึงกำไรที่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่ลดลง เช่น ค่าใช้จ่ายสินค้าคงคลัง ของเสียจาการผลิตลดลง เป็นต้น
 
ทั้งนี้ ผลลัพธ์การจัดโครงการนี้ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ เมื่อนำผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจาก 35 ราย มาประมาณการมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้น 363.57 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและระยะเวลาของโครงการที่ค่อนข้างสั้น ทำให้ผู้ประกอบการบางรายยังมีแผนงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และแผนงานสามารถดำเนินการแล้วเสร็จ ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้
 
“หากพิจารณาถึงอัตราการเติบโตของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ Big Brother Season 5 มีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 19.13 ซึ่งเป็นอัตราสูงกว่าอัตราการเติบโตของ MSME โดยเฉลี่ยทั้งประเทศ ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้คาดการณ์การเติบโตของตัวเลข GDP ของ MSME ในปี 2564 ไว้ว่าจะเติบโตอยู่ระหว่างร้อยละ 1.4-2.7” นายพลิษศร์ กล่าว
 
นายชลวิทย์ สุขอุดม ผู้จัดการโครงการ Big Brother หอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยได้ร่วมกับองค์กรเอกชนขนาดใหญ่และสถาบันการเงินต่างๆ กว่า 22 องค์กร ดำเนินโครงการ Big Brother มาอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับผู้ประกอบการขนาดย่อมไปสู่ผู้ประกอบการขนาดกลาง และพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น นำไปสู่การจ้างงานและการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มทักษะองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ 
 
ตลอดจนสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้และเชื่อมโยงในการดำเนินธุรกิจระหว่างธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกับธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นการโค้ชเพื่อให้ SMEs พัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของบริษัทชั้นนำ
 
โดยวันนี้เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการประสานความร่วมมือพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นสมาชิกหอการค้าไทย และเครือข่ายหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ให้เกิดความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม หอการค้าไทยร่วมกับหน่วยงานพี่เลี้ยงทั้ง 22 หน่วยงาน จึงได้จัดพิธีบันทึกความร่วมมือโครงการ Big Brother ขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทพี่เลี้ยงทุกบริษัทสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการพัฒนาบริษัทน้องที่เข้าร่วมโครงการของตน ให้พัฒนายิ่งขึ้นได้อย่างเต็มความสามารถ
 
ทั้งนี้ ขอเชิญสมาชิกผู้ประกอบการ SMEs ทุกท่านมาร่วมหาโอกาสใหม่ บนความเป็นไปได้ของธุรกิจ ภายใต้รูปแบบ “พี่ช่วยน้อง” บริษัทชั้นนำของประเทศมาเป็นพี่เลี้ยงธุรกิจให้ท่านอย่างใกล้ชิด หอการค้าไทยเปิดรับสมัคร โครงการ Big Brother Season 6 แล้วตั้งแต่วันนี้ – 28 กุมภาพันธ์ 2565 (รับจำนวนจำกัด) สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaichamber.org และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งสมาชิก Tel. 02-018-6888 ต่อ 3630 หรือ 086-1044039
 
รายชื่อบริษัท ที่เข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยง (22 องค์กร) ได้แก่
 
1) บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
2) กลุ่มมิตรผล
3) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด ( มหาชน)
4) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
5) บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
6) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
7) กลุ่มเซ็นทรัล
8)บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)
9) บริษัท โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท จำกัด
10) บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)
11) กลุ่มธุรกิจ TCP
12) บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด
13) บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด
14) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
15) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
16) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
17) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
18) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
19) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)
20) บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
21) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
22) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
 
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 25 มกราคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)