"ททท." ปักธงทำตลาดซาอุฯ หลังฟื้นความสัมพันธ์ในรอบ 30 ปี
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า สถิตินักท่องเที่ยวชาว ซาอุดีอาระเบีย เดินทางเข้าประเทศไทยย้อนหลัง 3 ปีล่าสุด ได้แก่ ปี 2560 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวน 33,517 คน สร้างรายได้ 3,510 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 28,334 คน สร้างรายได้ 2,615 ล้านบาท และปี 2562 จำนวน 30,002 คน สร้างรายได้ 2,716 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 ส่วนในปี 2563 มีจำนวน 4,125 คน และปี 2564 จำนวน 467 คน
โดยสาเหตุที่ปรับลดลงเนื่องจากการระบาดโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีโอกาสในการทำตลาดซาอุฯ เนื่องจากไทยมีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่น่าสนใจ และมีความคุ้มค่าเงินในการท่องเที่ยว มีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมติดอันดับในภูมิภาคเอเชีย ความเป็นมิตรไมตรีของคนไทย ซาอุฯ มีสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ประชากรมีรายได้อยู่ในอัตราที่สูง นับเป็นปัจจัยส่งเสริมสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเดินทางออกนอกประเทศ
รวมถึงขณะนี้มีการขยายตัวของสายการบินต่างๆ ที่เชื่อมต่อจากเมืองหลัก (Riyadh) และเมืองรอง (Jeddah) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical tourism)ในหมู่ของนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และรัฐบาลให้สวัสดิการกับประชาชนสูงในด้านสาธารณสุขมากขึ้น อาหารไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวตะวันออกกลางเป็นอย่างมาก สามารถนำมาช่วยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้
นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า พฤติกรรมการเดินทางของชาวซาอุฯ ปัจจุบันแม้ยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ เดินทางมาประเทศไทยสำหรับการท่องเที่ยว แต่ก็อนุญาตให้เดินทางมาเพื่อการรักษาพยาบาล การติดต่อเจรจาธุรกิจหรือราชการได้อยู่ โดยชาวซาอุฯ นิยมเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว
โดยกลุ่มครอบครัวมักจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ 7-8 คนขึ้นไป และนิยมเดินทางภายในพื้นที่ตะวันออกกลางมากที่สุด ซึ่งประเทศที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ได้แก่ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน อียิปต์ ตุรกี รองลงมา ได้แก่ ประเทศในภูมิภาคยุโรป และอเมริกาเหนือ ส่วนรูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ทะเล ชายหาด สถานบันเทิง ธรรมชาติ (ขี่ช้าง เที่ยวชมน้ำตก)
ส่วนกิจกรรมท่องเที่ยวที่นิยมมากที่สุด คือ การจับจ่ายสินค้าโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางซ้ำ นิยมเดินทางมาช้อปปิ้งทั้งสินค้าทั่วไปและสินค้าแบรนด์เนม โดยพบว่า มีนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ เดินทางมาเพื่อการตรวจรักษาพยาบาลในประเทศไทยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในแต่ละปี ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยที่ได้รับความนิยม ได้แก่ กรุงเทพฯ (60.75%) ภูเก็ต (57.83%) พัทยา (43.96%6) พังงา (9.20%) กระบี่ (8.07%) เกาะสมุย (4.94%) เชียงใหม่ (4.90%)
“ปัญหาที่อุปสรรค ได้แก่ ความไม่แน่นอนในสถานการณ์ทางการเมืองของไทย การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวที่รุนแรงในเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ชาวซาอุฯ เริ่มนิยมการทัวร์แสวงบุญ และเริ่มเดินทางแลกเปลี่ยนภายในแถบตะวันออกกลางด้วยกันเองมากขึ้น
เนื่องจากมีความเข้าใจวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชาวมุสลิมด้วยกัน มีแหล่งท่องเที่ยวเกิดใหม่ในภูมิภาคตัวเองเพิ่มมากขึ้น ทัศนคติเชิงลบต่อประเทศไทยเกี่ยวกับปัญหา การจราจรที่ติดขัดในเขตกรุงเทพมหานคร ปัญหาโสเภณีและโรคเอดส์ ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวในเรื่องความสามารถในการสื่อสารและการใช้ภาษาของผู้ให้บริการนักท่องเที่ยว อาทิ ตำรวจท่องเที่ยว และ ความซื่อตรงของผู้ประกอบการลดลง” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวคือ หากความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย สามารถพัฒนาพลิกฟื้นกลับมาได้เป็นปกติ หลังจากประเทศไทยถูกแบนมานานกว่า 30 ปี ควรที่จะเริ่มวางแผนจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และเสนอขายประเทศไทยในพื้นที่ตลาดชาอุฯ โดยอาศัยความร่วมมือกับ 3 สายการบินหลักในพื้นที่ตะวันออกกลาง (Emirates Airlines, Qatar Airways และ Etihad Airways) ที่มีเที่ยวบินเชื่อมโยง เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยว
กลุ่มมาเที่ยวซ้ำ (Revisit)
โดยทำการประชาสัมพันธ์มากขึ้น และการใช้ Arab KOLs ซึ่งปัจจุบันมีอิทธิพลทางความคิดในการช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทย สายการบิน Saudi Airlines และบริษัทการบินไทย เป็นอีก 2 สายการบินที่น่าจับตา หากสามารถเปิดเส้นทางการบินตรง ระหว่างสองประเทศได้จริง ในอนาคตอันใกล้นี้
จึงควรที่จะเริ่มวางแผนดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการขายและประชาสัมพันธ์ประเทศไทยร่วมกัน ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในซาอุดีอาระเบียส่วนใหญ่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อนำเสนอขายให้กับกลุ่มครอบครัว มิลเลเนียม คู่รัก และสุขภาพ ดังนั้น หากมีโอกาส ควรที่จะจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะการ อัพเดตสินค้าท่องเที่ยวเพื่อกลุ่มเหล่านี้โดยเฉพาะ
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 28 มกราคม 2565