วัคซีนโควิด-19 ป้องกันภาวะลองโควิด (Long COVID) ได้หรือไม่?
เนื่องจากทางเลือกในการรักษาภาวะลองโควิด (long COVID) ยังมีจำกัด และพบว่ามีอาการใหม่ ๆ ปรากฏขึ้นตลอดเวลา จึงมีการตั้งคำถามว่าการฉีดวัคซีนโควิดสามารถป้องกันภาวะดังกล่าวได้หรือไม่
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 อัลจาซีราห์รายงานว่า แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะฟื้นตัวเต็มที่จากการติดเชื้อโควิด-19 แต่สำหรับบางคนอาการอาจปรากฏอยู่นานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน เป็นภาวะที่เรียกกันว่า “ลองโควิด” (long COVID) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำจำกัดความว่า
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในบุคคลที่มีประวัติน่าจะหรือยืนยันการติดเชื้อ SARS CoV-2 ซึ่งโดยปกติแล้วในช่วง 3 เดือนนับจากเริ่มแสดงอาการโคิด จะเกิดภาวะนี้อย่างน้อย 2 เดือน และไม่สามารถอธิบายด้วยการวินิจฉัยทางเลือกอื่น
อาการลองโควิด :
คาดว่าผู้ติดเชื้อโควิด 1 ใน 10 คน จะมีอาการลองโควิด ซึ่งอาจแสดงอาการแตกต่างกัน ตั้งแต่เล็กน้อยถึงรุนแรง โดยผลการศึกษาที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตันระบุว่า มีผู้เผชิญภาวะลองโควิดมากขึ้น ผลการศึกษายังชี้ว่ามากกว่า 30% ของผู้ติดโควิด จะแสดงอาการลองโควิดในช่วงหลายเดือนหลังจากนั้น
อาการของลองโควิดอาจแตกต่างกันไป และหลาย ๆ อาการอาจไม่หนักมาก แต่อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ เหนื่อยล้า หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ใจสั่น ความจำไม่ดี ปวดข้อ ปวดหัว ซึมเศร้า วิตกกังวล ปวดเส้นประสาท สูญเสียการรับกลิ่นและรสชาติ ปวดท้อง สูญเสียการทรงตัว และคลื่นไส้
นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามหาสาเหตุว่าทำไมบางคนถึงเผชิญภาวะลองโควิด ขณะที่บางคนไม่เป็น ผลการศึกษาของออสเตรเลียที่ตีพิมพ์ในเดือนนี้ มีการตรวจสอบตัวอย่างเลือดของผู้ที่ติดโควิดในช่วงแรกของการระบาดใหญ่
พวกเขาพบหลักฐานการอักเสบอย่างต่อเนื่องในผู้ที่ยังคงแสดงอาการและป่วยลองโควิด พวกเขาเปรียบเทียบตัวอย่างเลือดกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อโควิด และพบว่ามีโปรตีนในระดับสูงที่เรียกว่า “อินเตอร์เฟอรอน” หลังจากที่ไวรัสถูกกำจัดไปนานแล้ว
พวกเขายังสรุปด้วยว่า ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีอาการรุนแรงในการป่วยโควิดระยะเฉียบพลัน ก็สามารถเผชิญภาวะลองโควิดได้
การศึกษาอื่น ๆ พบเซลล์ภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า “ไซโตไคน์” และ “ออโตแอนติบอดี” ในระดับสูง จากตัวอย่างเลือดที่นำมาจากผู้ป่วยลองโควิด ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นสาเหตุให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเนื้อเยื่อของร่างกายที่มีสุขภาพดีแทนที่จะโจมตีไวรัส และยังทำให้เกิดการอักเสบที่นำไปสู่อาการต่อเนื่อง
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปัจจุบันจะมีคำถามเกี่ยวกับลองโควิดมากกว่าคำตอบ และทางเลือกในการรักษาภาวะนี้ก็มีจำกัด
วัคซีนลดความเสี่ยงลองโควิดได้หรือไม่ :
เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ การป้องกันนั้นดีกว่าการรักษา ลองโควิดก็ไม่ต่างกัน แล้ววัคซีนโควิดช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะลองโควิดได้หรือไม่ ?
แม้ว่าวัคซีนจะไม่ได้ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่วัคซีนก็มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิดได้ โดยเฉพาะกรณีของโอมิครอน ซึ่งทำให้เราได้เห็นถึงการติดเชื้อที่ลุกลามในหมู่ผู้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และแม้ว่าพวกเขาจะป่วยน้อยกว่าผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เราก็ทราบดีว่าความรุนแรงของการเจ็บป่วยนั้น ไม่ได้สัมพันธ์กับโอกาสเผชิญภาวะลองโควิด
ในช่วงสัปดาห์แรกของการฉีดวัคซีน บุคคลจะมีระดับแอนติบอดีที่เป็นกลางในระดับสูง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะหยุดเส้นทางการติดเชื้อของไวรัส ก่อนที่มันจะมีโอกาสแพร่เชื้อไปยังเซลล์จำนวนมาก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของลองโควิดในอนาคต
แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนก็ลดลงตามกาลเวลา คาดว่าเมื่อเซลล์ภูมิคุ้มกันเริ่มตอบสนองได้ช้าลง ไวรัสจึงมีเวลามากพอที่จะแพร่เชื้อในเซลล์บางเซลล์ ก่อนที่ภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นให้ฆ่าเชื้อไวรัสและเซลล์ที่ติดเชื้อ ระดับการติดเชื้อนี้จึงอาจเพียงพอที่จะทำให้เกิดภาวะลองโควิดในบางคน
ข้อมูลจากการศึกษาหนึ่งพบว่า การฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วนช่วยลดโอกาสที่บุคคลจะป่วยลองโควิด โดยในจำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบถ้วน 592 คนที่ติดเชื้อโควิด มี 31 คนที่เป็นลองโควิด (การแสดงอาการเจ็บป่วยที่มีระยะเวลา 28 วัน หรือมากกว่า หลังจากผลตรวจเป็นบวก) หรือคิดเป็น 5% ของทั้งหมด ขณะที่ในกลุ่มผู้ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ตัวเลขนี้อยู่ที่ประมาณ 11% ซึ่งบ่งชี้ว่า วัคซีนสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดลองโควิดได้
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาอีกชิ้นวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยมากกว่า 10,000 คนที่ติดเชื้อขั้นรุนแรง พบว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันสภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลองโควิดเลย
กลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้วเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน พบว่ามีอัตราการป่วยลองโควิดใกล้เคียงกันทั้งสองกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้ยังไม่ได้รับการตรวจทางวิชาการโดยผู้ทรงคุณวุฒิ
มาตรการคุมโควิดยังจำเป็น :
สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงความต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลองโควิด ทั้งในประชากรที่ได้รับวัคซีนและประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีน แต่หากวัคซีนยังไม่ใช่คำตอบ แล้วอะไรคือคำตอบ ?
การลดโอกาสติดเชื้อไวรัสตั้งแต่แรกคือสิ่งสำคัญ ดังนั้นเราจึงต้องกลับไปที่มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ เพื่อทำให้พื้นที่ภายในอาคารเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ซึ่งหมายถึงการลงทุนมหาศาลเพื่ออากาศบริสุทธิ์ในที่ทำงาน พื้นที่ทางสังคม และโรงเรียน ซึ่งจำเป็นต้องมีเครื่องกรองกาศ ขณะที่การสวมหน้ากากยังเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565