โอมิครอน "ล่องหน" ลามแล้ว 57 ประเทศ WHO เตือนโลกอย่าชะล่าใจยังไม่ถึงจุดพีกสุด
สายพันธุ์ย่อยของตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งผลการศึกษาบางส่วนบ่งชี้ว่าอาจแพร่กระจายเชื้อง่ายกว่าตัวดั้งเดิม ถูกพบแล้วใน 57 ชาติ จากการเปิดเผยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในวันอังคาร (1 ก.พ.) พร้อมกันนั้น ยังเตือนว่าระลอกการแพร่ระบาดของโอมิครอนยังไม่ถึงจุดสูงสุดและควรผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป
ตัวกลายพันธุ์โอมิครอนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แพร่ระบาดรวดเร็วมากจนกลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลก นับตั้งแต่มันถูกตรวจพบครั้งแรกในภูมิภาคทางใต้ของทวีปแอฟริกาเมื่อ 10 สัปดาห์ก่อน
ในรายงานอัปเดตรายสัปดาห์ด้านระบาดวิทยา องค์การอนามัยโลกระบุว่า ตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 93% ของตัวอย่างไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั้งหมดที่รวบรวมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีสายพันธ์ย่อยหลายสายพันธุ์ ประกอบด้วย BA.1, BA.1.1, BA.2 และ BA.3
รายงานข่าวระบุว่า BA.1 และ BA.1.1 ซึ่งเป็นเวอร์ชันแรกที่ถูกพบ ยังคงคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 96% ของลำดับพันธุกรรมโอมิครอนทั้งหมดที่อัปโหลดลงในฐานข้อมูลของ GISAID ฐานข้อมูลกลางโควิดโลก
อย่างไรก็ตาม พบการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในเคสที่เกี่ยวข้องกับ BA.2 ซึ่งมีการกลายพันธุ์แตกต่างจากตัวดั้งเดิมหลายตำแหน่ง ในนั้นรวมถึงสไปค์โปรตีน ตำแหน่งโปรตีนตรงส่วนหนามบนผิวของไวรัส ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าสู่เซลล์มนุษย์
นักวิทยาศาสตร์บอกว่า BA.2 มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ทำให้จำแนกว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ยากขึ้น โดยมีลักษณะบางอย่างที่ไม่เหมือนกับโอมิครอนดั้งเดิม นั่นคือไม่มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมที่ Spike Gene ที่เรียกว่า S-Gene Drop Out ทำให้ตรวจระบุสายพันธุ์ของเชื้อได้ยากขึ้น แม้ว่าจะตรวจหาเชื้อแบบ PCR
"จนถึงตอนนี้มีอยู่ 57 ชาติที่ยื่นข้อมูลลำดับพันธุกรรมที่ระบุตัวตนของ BA.2 เข้าสู่ GISAID" องค์การอนามัยโลกระบุ พร้อมบอกว่าในบางประเทศ ปัจจุบันสายพันธุ์ย่อยมีสัดส่วนคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของลำดับพันธุกรรมของโอมิครอนที่รวบรวมมา
หน่วยงานสาธารณสุขของสหประชาชาติแห่งนี้ ยอมรับว่ายังคงรู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ย่อยทั้งหลาย และเรียกร้องให้ทำการศึกษาลักษณะเฉพาะต่างๆ ในนั้นรวมถึงการแพร่เชื้อ ความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันและความรุนแรงของพวกมัน
ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้บ่งชี้ว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมของโอมิครอน
ดร.มาเรีย ฟาน เคิร์คโฮฟ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญระดับสูงขององค์การอนามัยโลก บอกกับผู้สื่อข่าวในวันอังคาร (1 ก.พ.) ว่าข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อยยังคงมีอย่างจำกัดมาก แต่ข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ BA.2 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า BA.1 เล็กน้อย
เป็นที่รู้โดยทั่วไปว่า โอมิครอนก่ออาการรุนแรงน้อยกว่าตัวกลายพันธุ์ต่างๆ ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ก่อนหน้านี้ อย่างเช่นเดลตา และทาง ฟาน เคิร์คโฮฟ ระบุว่าจนถึงตอนนี้ "ยังไม่พบสิ่งบ่งชี้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระดับความรุนแรงของสายพันธุ์ย่อย BA.2"
อย่างไรก็ตาม เธอเน้นว่า แม้หากไม่พิจารณาว่าเป็นสายพันธุ์ใด โควิด-19 ก็ยังคงเป็นโรคที่อันตรายและประชาชนยังควรดิ้นรนพยายามป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ "มันเป็นสิ่งสำคัญมากที่เราต้องใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดโอกาสที่เราจะติดไวรัสนี้ ไม่ว่าตัวกลายพันธุ์ไหนๆ จะวนเวียนอยู่"
นอกจากนี้ ฟาน เคิร์คโฮฟ ยังเตือนด้วยว่าหลายประเทศยังไม่ถึงจุดพีกสุดในระลอกการแพร่ระบาดของตัวกลายพันธุ์โอมิครอน และการผ่อนปรนมาตรการสกัดการแพร่ระบาดควรดำเนินการอย่างช้าๆ
"เราเรียกร้องให้ระมัดระวัง เพราะว่าหลายประเทศยังไม่ผ่านจุดพีกของโอมิครอน หลายประเทศมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมกลุ่มประชากรอ่อนแอในระดับต่ำ" ฟาน เคิร์คโฮฟ กล่าว "และตอนนี้ไม่ใช่เวลายกเลิกข้อจำกัดทั้งหมดในคราวเดียว เราเรียกร้องให้ยังคงระมัดระวังอย่างยิ่ง"
ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ระบุว่า หน่วยงานแห่งนี้มีความกังวลกับเรื่องเล่าบางอย่างในบางประเทศ "มีคนพูดว่า เพราะว่าวัคซีน เพราะว่าการแพร่เชื้อง่ายมากและความรุนแรงลดลงของโอมิครอน การป้องกันการแพร่ระบาดจึงเป็นไปไม่ได้และไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป"
"ไม่มีอะไรจะหนีความจริงไปได้" ทีโดรสกล่าว "การแพร่เชื้อง่ายกว่า หมายความว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า เราไม่เรียกร้องประเทศไหนคืนสู่ล็อกดาวน์ แต่เราเรียกร้องให้ทุกประเทศป้องกันประชาชนของพวกเขา ด้วยการใช้เครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่างที่มี ไม่ใช่แค่วัคซีน มันเร็วเกินไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะยอมแพ้ หรือประกาศชัยชนะ"
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565