เปรียบเทียบญี่ปุ่นกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่แตก
หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ประเทศญี่ปุ่นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วมาก เพราะเกิดสงครามเกาหลีขึ้นเมื่อ พ.ศ.2493 ทางสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องยินยอมให้ญี่ปุ่นมีกองกำลังป้องกันตัวเองขึ้น การรับสมัครทหารเป็นจำนวนมากจึงช่วยให้ปัญหาการว่างงานของญี่ปุ่นได้ลดน้อยลงอย่างทันตาเห็น
และประเทศญี่ปุ่นยังต้องเป็นศูนย์กลางที่ตั้งกองบัญชาการขององค์การสหประชาชาติในสงครามเกาหลีที่กระตุ้นเศรษฐกิจการค้าอุตสาหกรรมและการบริการพุ่งทะยานขึ้นอย่างมหาศาลแบบว่าภายใน 3 ปีระหว่าง พ.ศ.2493-2496 ของสงครามเกาหลี ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาบูมได้ระดับเดียวกับเศรษฐกิจก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว
คนญี่ปุ่นมีความสามารถสูงในการเลียนแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ในแบบของตัวเอง โดยเฉพาะสินค้าประเภทเทคโนโลยีนั้น คนญี่ปุ่นสามารถพัฒนาสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดีกว่าเดิมแถมราคาถูกกว่าด้วย ด้วยเหตุนี้เองสินค้าของญี่ปุ่นจำนวนมาก จึงตีตลาดได้ประเทศแล้วประเทศเล่าไม่เว้นแม้แต่สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะช่วง พ.ศ.2516 เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันราคาแพงขึ้นหลายเท่าทั่วโลก
ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกันที่เน้นรถสวยงามคันใหญ่แต่กินน้ำมันจุ จึงถูกรถยนต์ญี่ปุ่นที่คันเล็กไม่สวยนักแต่ราคาถูกกว่า แถมกินน้ำมันน้อยกว่ามากเข้าไปตีตลาดรถยนต์ในอเมริกาได้อย่างเด็ดขาด สินค้าหลายๆ อย่างจากญี่ปุ่นโดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ประสบความสำเร็จแบบเดียวกับรถยนต์ ทำให้สหรัฐอเมริกาติดหนี้สินรุงรังจนต้องวางแผนที่จะลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลงเพื่อให้สินค้าของสหรัฐในสายตาของชาวโลกมีราคาถูกลง
ในที่สุด ที่โรงแรมพลาซา นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2528 ได้เกิดข้อตกลงพลาซา (Plaza Accord) ขึ้น อันเป็นข้อตกลงระหว่าง 5 ประเทศอุตสาหกรรมหลัก อันได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ได้บีบให้ญี่ปุ่นและเยอรมนีเพิ่มค่าเงินของตัวเองขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ข้อตกลงครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่เยอรมนีตะวันตกและญี่ปุ่นได้ดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาอย่างมหาศาล ทำให้สหรัฐอเมริกาประสบภาวะขาดดุลการค้าถึงร้อยละ 3.5 ของมูลค่าเศรษฐกิจประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าอเมริกาขายไม่ค่อยได้ในตลาดโลกเพราะมีราคาแพง จึงต้องลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลงนั่นเองถึงกว่า 51% เมื่อเทียบกับเงินเยนนั่นเอง
ตั้งแต่ข้อตกลงพลาซาบังคับใช้ ทำให้สินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่นในสายตาของชาวโลกกลับมีราคาแพงขึ้นเท่าตัวด้วยเช่นกัน ทำให้ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย จึงทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีการขยายตัวในอัตราที่ลดลงในระยะยาว แต่ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นทะยานขึ้นสูง คนญี่ปุ่นผู้ร่ำรวยจึงใช้จ่ายเงินกันแบบสะบัดช่อ ถึงขนาดซื้อตึกเอ็มไพร์สเตตที่เป็นสัญลักษณ์ของสหรัฐอเมริกา และอสังหาริมทรัพย์และบรรษัทต่างๆ ของประเทศทางตะวันตกตกงานมหกรรมเลยทีเดียว
จนญี่ปุ่นได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับที่ 2 ของโลกนับตั้งแต่ พ.ศ.2533 และเป็นเจ้าหนี้ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ธนาคารของญี่ปุ่นจึงมีเงินสดล้นเกินจนต้องหาทางให้คนกู้อย่างปล่อยเครดิตแบบประมาท มีการให้กู้เงินไปลงทุนในตลาดหุ้นแบบเก็งกำไรแบบปั่นหุ้นกันอย่างมโหฬาร และยังให้กู้เพื่อนำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์กันอย่างบ้าคลั่งทำให้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือหน่วยลงทุนต่างๆ เพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าราคาตามความเป็นจริงอย่างลิบลับ
จนในที่สุดวิกฤตฟองสบู่ในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ต้องล้มละลายใน พ.ศ.2534 นั่นเอง ทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่เศรษฐกิจซบเซากินเวลาต่อเนื่องหลายทศวรรษ จนทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถแซงญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับที่ 2 ของโลกแทนนับตั้งแต่ พ.ศ.2553
คราวนี้มาพูดแบบเปรียบเทียบญี่ปุ่นในอดีตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบันที่เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับที่ 2 ของโลกดู ใน 2 แง่ที่น่าสนใจคือ
1) การล้มละลายของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ที่ชื่อว่า “เอเวอร์แกรนด์” ที่สร้างหนี้เสียถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนเองก็มีทีท่าที่จะล่มสลายกันทั้งตลาดเหมือนญี่ปุ่นก่อนหน้านี้
2) ภาวะการขาดทุนอย่างมหาศาลของกิจการรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลจีน ซึ่งการขยายตัวอย่างไม่หยุดหย่อนของการรถไฟความเร็วสูงของจีนนั้น จำเป็นที่จะต้องสร้างอย่างต่อเนื่องเพราะมีคนงานนับล้านคนและค่าใช้จ่ายประจำที่จะต้องใช้จ่ายในการซื้อหาวัตถุดิบในการก่อสร้างทุกวัน ทำให้ต้องสร้างทางรถไฟที่วิบากที่มีความยาวมากแต่เมื่อเปิดเดินรถแล้วมีผู้โดยสารน้อยกว่า 10% ของจำนวนที่นั่งก็ทำให้ขาดทุนไปแล้วเป็นเงินล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
มิหนำซ้ำยังให้ประเทศด้อยพัฒนากู้เงินไปสร้างท่าเรือน้ำลึก สนามบิน โดยไม่คุ้มค่า เมื่อประเทศด้อยพัฒนาเหล่านั้นทั้งในเอเชียและแอฟริกาไม่สามารถหาเงินใช้หนี้ได้ ถึงแม้จีนจะยึดกิจการเหล่านั้นไปบริหารเองถึง 99 ปีเป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ก็เป็นการสูญเสียเงินไปกับหนี้เสียอย่างมโหฬารอยู่ดีและบรรดาท่าเรือน้ำลึกและสนามบินเหล่านั้นก็ไม่มีใครไปใช้บริการอยู่ดี
ครับ ! การที่เอามาเขียนเล่าสู่กันฟังกับท่านผู้อ่านที่เคารพก็เพราะว่าเกิดสะกิดใจเมื่อหวนคิดไปถึงวิกฤตต้มยำกุ้งของประเทศไทยเราเมื่อ พ.ศ.2540 แล้วก็รู้สึกสยดสยองเมื่อได้ทราบข่าวของการล้มละลายของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ เข้าเท่านั้นแหละครับ
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565