ขอบีโอไอดันลงทุนปี 64 ฉลุย FDI ญี่ปุ่น-จีน-สิงคโปร์ นำลิ่ว

ปิดบัญชีปี 64 “บีโอไอ” ดูดลงทุนทะลุ 6.4 แสนล้าน FDI แห่ขอส่งเสริม 783 โครงการ “ญี่ปุ่น” แซงจีน อุตสาหกรรมเป้าหมายบูมลงทุนพุ่ง 53% “เครื่องใช้ไฟฟ้า” นำโด่ง แสนล้าน ส่วนพื้นที่อีอีซียังไม่แผ่ว ขอส่งเสริม 2 แสนล้าน ขยายตัว 34%
 
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า ปี 2564 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1,674 โครงการ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่า 642,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้ารับส่งเสริมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ดำเนินการมา
 
บีโอไอได้ปรับแผนการส่งเสริมการลงทุนโดยการสื่อสารกับนักลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหลัก สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน ผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์ได้ ส่งผลให้ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการที่เข้ายื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 783 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 455,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 163%
 
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น มีมูลค่าเงินลงทุน 80,733 ล้านบาท รองลงมาคือจีน มีมูลค่าเงินลงทุน 38,567 ล้านบาท และสิงคโปร์มีมูลค่าเงินลงทุน 29,669 ล้านบาท
 
“เป้าหมายการขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 มีโอกาสที่จะเติบโตมากกว่าปี 2564 ที่ 6 แสนล้าน อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการลงทุนในปี’65 ต้องติดตามปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดเป็นหลัก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่การที่ภาคส่งออกขยายตัวยังเป็นโอกาสในการเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งแม้ว่าเงินลงทุนอาจไม่มากแต่มาพร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัย”
 
สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนปี 2564 นั้น พบว่าเป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มูลค่า 340,490 ล้านบาท คิดเป็น 53% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม โดยอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าลงทุน 104,490 ล้านบาท 2) การแพทย์ มูลค่า 62,170 ล้านบาท 3) ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ มูลค่า 48,410 ล้านบาท 4) การเกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 47,660 ล้านบาท และ 5) ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 24,570 ล้านบาท
 
ในส่วนของการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมายโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 30-40% จากปี 2564 ที่มีการขอรับการส่งเสริม 453 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 220,500 ล้านบาท ขยายตัว 34% โดยจังหวัดระยองมีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 112,740 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี มูลค่าเงินลงทุน 74,550 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าเงินลงทุนรวม 33,210 ล้านบาท โดยยังให้ความสำคัญในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ซึ่งหากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ แล้วเสร็จน่าจะมีศักยภาพดึงดูดการลงทุนมากขึ้น
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565     

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)