BA.2 ที่มาและความหมาย "โอมิครอนล่องหน" อันตรายแค่ไหน

นักวิทยาศาสตร์และสาธารณสุขทั่วโลกกำลังจับตาการแพร่ระบาดของโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยบีเอทู (BA.2) ซึ่งได้รับฉายาเป็น “โอมิครอนล่องหน” (stealth omicron) ขณะนี้พบแล้วในอย่างน้อย 57 ประเทศทั่วโลก เรามาทำความรู้จักไวรัสโควิดสายพันธุ์ย่อยนี้กันให้มากขึ้น
 
องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวเตือนว่า โควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย "BA.2" จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่กระจายทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์กำลังเฝ้าจับตาใกล้ชิด ขณะที่ เดนมาร์ก-เยอรมนี ยอมรับขณะนี้ BA.2 เป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดในประเทศแล้ว
 
ที่มีชื่อฉายา “โอมิครอนล่องหน” นั้น นักวิทยาศาสตร์ให้เหตุผลว่า BA.2 มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ทำให้จำแนกว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ยากขึ้น โดยมีลักษณะบางอย่างที่ไม่เหมือนกับโอมิครอนดั้งเดิม นั่นคือไม่มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมที่ Spike Gene ที่เรียกว่า S-Gene Drop Out ทำให้ตรวจระบุสายพันธุ์ของเชื้อได้ยากขึ้น แม้ว่าจะตรวจหาเชื้อแบบ PCR ก็ตาม
 
ทั้งนี้ สื่อใหญ่ของอังกฤษ “เดอะ การ์เดี้ยน” เคยรายงานไว้ในเดือนม.ค. อธิบายว่าการตรวจหาเชื้อแบบ PCR โดยปกติแล้วจะพุ่งเป้าไปที่ยีน 3 ส่วน หนึ่งในนั้นคือ S Gene ซึ่งหากเป็นสายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิม รวมถึงสายพันธุ์อัลฟา จะตรวจไม่เจอยีนตัวนี้ อันเป็นลักษณะเด่นที่ทำให้สามารถระบุสายพันธุ์ของเชื้อได้
 
แต่หากเป็น BA.2 ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ ทำให้อาจถูกระบุว่าเป็นสายพันธุ์เดลตา หรือเบตา จึงเป็นที่มาของชื่อไวรัสล่องหน เพราะมันสามารถตีเนียนไปกับสายพันธุ์อื่นได้ กล่าวคือยังตรวจเจอเชื้อ แต่ยากที่จะจำแนกว่าเป็นสายพันธุ์ใด
 
นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า เชื้อ BA.2 อาจแพร่กระจายได้ดีกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (BA.1) แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า BA.2 จะส่งผลให้เกิดโรครุนแรงเพียงใด ตลอดจนความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจน
 
ปัจจุบัน WHO ยังไม่ได้จัดให้ BA.2 เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC หรือ Variant of Concerns) แต่การแพร่กระจายที่เพิ่มขึ้นของมันก็ทำให้ WHO ต้องออกมาเรียกร้องว่าหน่วยงานต่างๆ ควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณลักษณะของไวรัสชนิดนี้เป็นอันดับแรก โดยเฉพาะในคุณสมบัติในการหลบภูมิคุ้มกันและการติดเชื้อ เพื่อหาว่า BA.2 จะอันตรายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือไม่
 
ไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในบางประเทศแถบเอเชียและยุโรป โดยเฉพาะที่เดนมาร์กซึ่งส่งตัวอย่างลำดับพันธุกรรมไปแล้วมากกว่า 6,400 รายการ และมีผู้ติดเชื้อ BA.2 มากกว่าครึ่งของผู้ติดที่เชื้อรายใหม่ในเดือนม.ค.
 
ประเทศที่พบ BA.2 มากรองลงมาจากเดนมาร์ก ได้แก่ อินเดีย สวีเดน และสิงคโปร์ ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็พบผู้ติดเชื้อนี้แล้วนับร้อยราย และในประเทศไทยก็มีการตรวจพบแล้วเช่นกัน
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)