เกาะติดวิกฤตยูเครน vs. รัสเซีย สถานการณ์ล่าสุด (25 กุมภาพันธ์ 2565)

คณะมนตรีความมั่นคงฯ เตรียมโหวตประณามรัสเซีย คาดรัสเซียยกวีโต้คัดค้านมติ
เวลา 09.20 น. วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ทั้ง 15 ประเทศ เตรียมลงมติโหวตประณามรัสเซีย สำหรับการปฏิบัติการพิเศษทางทหารที่เกิดขึ้นในยูเครน คาดรัสเซียในฐานะ 1 ใน 5 ประเทศสมาชิกถาวรของ UNSC และประธานที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงฯ ประจำเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะยกวีโต้ (Veto) คัดค้านมติดังกล่าว
 
วานนี้ (24 กุมภาพันธ์) ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีคำสั่งเคลื่อนกำลังพลอีก 7,000 นายไปยังยุโรป หลังรัสเซียสั่งเปิดฉากปฏิบัติการพิเศษทางทหารในแคว้นดอนบาสที่ตนเคยประกาศรับรองเอกราชให้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
 
ทางด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน เน้นย้ำจะปกป้องทุกตารางนิ้วของดินแดนพันธมิตร NATO ด้วยอำนาจทางทหารของสหรัฐฯ อย่างเต็มกำลัง และมีเรื่องที่น่ายินดีที่บรรดาชาติสมาชิก NATO ต่างเห็นพ้องและเป็นหนึ่งเดียวกันมากยิ่งขึ้น โดยได้ลงนามในคำสั่งส่งกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังบรรดาชาติพันธมิตร NATO บางประเทศเพิ่มเติมแล้ว เช่น ในกลุ่มประเทศบอลติกอย่างเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย รวมถึงโปแลนด์และโรมาเนียด้วย อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะส่งกำลังทหารไปยังเยอรมนีเพิ่มเติม
 
 
ดร.สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของไทย ประจำสหประชาชาติ แถลงจุดยืนต่อวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ในที่ประชุมสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า 
 
1. ไทยติดตามสถานการณ์ในยูเครนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการยกระดับความตึงเครียดที่คุกคามสันติภาพและความมั่นของระหว่างประเทศ
 
2. ไทยสนับสนุนความพยายามในการแสวงหาทางออกที่สันติ ผ่านกรอบเจรจาที่สอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศที่ยึดมั่นในหลักอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน
 
3. ไทยยังสนับสนุนจุดยืนของเลขาธิการสหประชาชาติที่เรียกร้องให้หาทางออกโดยสันติที่สอดคล้องกับข้อตกลงมินสก์ รวมถึงความพยายามของสหประชาชาติและกลไกระดับภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) และกรอบการเจรจานอร์มังดี เพื่อคลี่คลายความตึงเครียดและแสวงหาทางออกที่ยั่งยืน 
 
4. ไทยยังแสดงความกังวลต่อผลลัพธ์ด้านมนุษยธรรมที่อาจจะเกิดขึ้นตามมากับประชาชนในพื้นที่ เราจึงร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยับยั้งชั่งใจถึงขีดสุด เลี่ยงการกระทำใดๆ ที่อาจยั่วยุหรือกระตุ้นให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น งดเว้นการใช้กำลัง และประกันความปลอดภัยให้แก่พลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ 
 
ผู้นำสหรัฐฯ ยังเน้นย้ำเพิ่มเติมอีกว่า กองทัพสหรัฐฯ ยังคงอยู่นอกยูเครน และจะไม่เข้าไปยังพื้นที่ของยูเครน โดยจะกระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ โดยรอบ
 
เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงกลาโหมระบุ ปฏิบัติการทางทหารดังกล่าวของรัสเซียในยูเครนนับเป็นหนึ่งในการโจมตีทางทหทารครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
 
ที่มา the standard
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)