ส่องลงทุนไทยปี 65 ในวิกฤตสงคราม "รัสเซีย" บุก "ยูเครน"
กรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่เพิ่มระดับความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่กระทบประเทศไทยโดยตรง เพราะปริมาณการค้าการลงทุนไม่มาก แต่ก็กระทบด้านตลาดเงินตลาดทุน ตลอดจนราคาพลังงานที่พุ่งไม่หยุดเช่นกัน เหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลในการรับมือเพื่อให้เศรษฐกิจไทยยังเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ติดหล่มสงครามจนเสียโอกาสจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว การค้า การลงทุน กำลังเติบโต
หนึ่งในประเด็นที่หลายคนจับตา เริ่มตั้งคำถาม คือ การลงทุนไทย 2565 จะได้รับผลกระทบแค่ไหน เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์แนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2565 จะขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% หนึ่งในปัจจัยหนุนแน่นอนว่าต้องมีภาคการลงทุนทั้งของคนไทยเอง และจากต่างชาติรวมอยู่ด้วย
ความกังวลต่อการลงทุนนั้น “นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ข้อมูลว่า ผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนในประเทศไทยคาดว่าจะมีไม่มากนัก วัดจากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากรัสเซียและยูเครนในไทยไม่มาก จำนวน 20 โครงการ เงินลงทุนรวม 3,221 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.1% ของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ขณะที่การส่งออกสินค้าจากไทยไปรัสเซียและยูเครนมีสัดส่วนเพียง 0.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
ประเด็นที่ต้องติดตามผลทางอ้อมอย่างใกล้ชิด คือ การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน เพราะทำให้ต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งสินค้าสูงขึ้น รวมทั้งเรื่องที่หลายประเทศกังวลเกี่ยวกับวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) อย่างก๊าซนีออนและแร่พาลาเดียม ซึ่งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตหลัก ส่งออกก๊าซนีออนเกือบ 70% และพาลาเดียมถึง 40% ให้กับทั่วโลก ถ้าราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก จะกระทบกับการผลิตชิปที่มีปัญหาขาดแคลนอยู่แล้ว
รองเลขาธิการบีโอไอมีความเห็นว่า สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน จะเป็นโอกาสดึงการลงทุนมาที่ไทยได้มากขึ้น ทั้งจากยุโรปและรัสเซีย เพราะไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคง ปลอดภัย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ มีโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรที่มีคุณภาพ มีปัจจัยที่เอื้อต่อการตั้งฐานการลงทุนระยะยาว ขณะที่รัสเซียเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีโดดเด่นในหลายด้าน ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสของไทยในการดึงการลงทุนจากรัสเซียในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการ อาทิ ดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ การผลิตวัสดุขั้นสูง อุปกรณ์วิทยาศาสตร์และการแพทย์ อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม
ขณะที่ผู้นำภาคเอกชนอย่าง “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า อยากให้ไทยมองโอกาสจากวิกฤตครั้งนี้ โดยเฉพาะการลงทุนและการท่องเที่ยว โดยผลจากความขัดแย้งดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนใน 2 ประเทศ หรือในละแวกนั้นรู้สึกไม่ปลอดภัย อาจต้องการย้ายฐานการผลิตมาในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไทยควรใช้จังหวะนี้ดึงดูดการลงทุน และภาครัฐควรมีแผนการประชาสัมพันธ์ แผนดึงดูดการลงทุนที่น่าสนใจ และควรเร่งพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ ทั้งรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ สนามบิน ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อรองรับการลงทุนหลังจากนี้
ล่าสุด สิ่งที่เอกชนคาดหวังก็เริ่มเดินหน้าไปมาก เพราะเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ทำพิธีเปิด โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) มูลค่าลงทุนทั้งหมดประมาณ 55,400 ล้านบาท โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดโครงการ คาดการณ์ก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปี 2567 เปิดให้บริการปี 2569 นอกจากนี้ มูลค่าลงทุนสูง ยังช่วยกระตุ้นการจ้างงานในพื้นที่อีกจำนวนมากด้วย
จากแนวโน้มการลงทุนที่เริ่มสดใส ทั้งโอกาสจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีเริ่มชัดเจน ทำให้หัวเรือใหญ่ของ กนอ. “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการ ประเมินเป้าหมายยอดขาย/เช่าพื้นที่ลงทุนของ กนอ.ปีนี้ จะอยู่ที่ 1,800 ไร่ มูลค่าลงทุน 180,000 ล้านบาท แบ่งเป็นพื้นที่อีอีซี 1,440 ไร่ มูลค่าการลงทุน 144,000 ล้านบาท คิดเป็น 80% ของยอดขาย/เช่าทั้งหมดในปีนี้ นอกอีอีซี 360 ไร่ มูลค่าลงทุน 36,000 ล้านบาท
นั่นเพราะ กนอ.เห็นสัญญาณความสนใจของนักลงทุนในการเข้ามาประเทศไทย ซึ่งมีทั้งระดับการเจรจา การดูพื้นที่ลงทุนจริง ไปจนถึงการตัดสินใจลงทุนอย่างเป็นทางการ จึงประเมินตัวเลขยอดขาย/เช่าพื้นที่ดังกล่าว
สอดคล้องกับสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 ของบีโอไอ ที่ระบุว่า มีมูลค่ารวม 642,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวนโครงการ 1,674 โครงการ เพิ่มขึ้น 5% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการแพทย์ มีอัตราการขยายตัวสูง จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มีโครงการยื่นขอ 783 โครงการ มูลค่า 455,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 163% ประเทศที่ยื่นขอลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น รองลงมาคือจีน และสิงคโปร์ และยังพบว่าพื้นที่อีอีซีมีคำขอ 453 โครงการ มูลค่า 220,500 ล้านบาท การลงทุนทั้งหมดจะเริ่มชัดเจนตั้งแต่ปี 2565
ไม่เพียงเท่านี้ หน่วยงานกำกับการลงทุนอย่าง กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ก็มั่นใจว่าการลงทุนไทยปี 2565 จะกลับมาสดใสเช่นกัน โดย “วันชัย พนมชัย” อธิบดี กรอ. คาดการณ์แนวโน้มการลงทุนในปี 2565 ว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป เพราะสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงทั่วโลกรวมทั้งไทย ทำให้การลงทุนไทยกลับมาขับเคลื่อนอย่างเต็มศักยภาพอีกครั้ง ทั้งจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ แต่ต้องจับตาผลกระทบจากกรณีรัสเซียบุกยูเครนด้วย
โดยยอดตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการโรงงานนอกนิคมอุตสาหกรรมของปีนี้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 15% จากปี 2564 ที่มีมูลค่าการลงทุน 322,975.23 ล้านบาท แบ่งเป็นการประกอบกิจการโรงงานใหม่ 2,611 โรงงาน มูลค่า 239,958.96 ล้านบาท จ้างงานใหม่ 81,410 คน และโรงงานที่ได้รับอนุญาตขยายกิจการ 251 โรงาน มูลค่าการลงทุน 83,016.27 ล้านบาท เกิดการจ้างงานใหม่ 53,800 คน
อธิบดี กรอ.ยังระบุว่า กรมได้หารือกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม พบข้อมูลน่าสนใจว่าภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกมีแนวโน้มการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างห่วงโซ่การผลิตให้สั้นลง ลดความชับซ้อนและระยะทางการขนส่ง หลังห่วงโซ่ผลิตหลายอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงักจากโควิด-19 เพราะการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตที่สำคัญและปัญหาด้านการขนส่ง โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศเป้าหมายหนึ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจในการย้ายฐานการผลิตเข้ามา เนื่องจากตั้งอยู่ในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตของอุตสาหกรรมที่สำคัญหลายอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีมาตรการภาครัฐสนับสนุนการลงทุน ทั้งมาตรการกระตุ้นเศษฐกิจ มาตรการทางการเงินและการคลัง นโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งปีที่ผ่านมาสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่าถึง 642,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลอดจนมาตรการผ่อนคลายการควบคุมการระบาดของโควิด และการระดมวัคซีนป้องกันโควิดให้ประชาชน วันชัยทิ้งท้าย
อีก 10 เดือนข้างหน้า การลงทุนไทยจะสดใส มีโอกาสเติบโตตามที่ทุกฝ่ายคาดการณ์หรือไม่ มาลุ้นกัน!!
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 2 มีนาคม 2565