"พาณิชย์" เผยตัวเลขส่งออกเดือน ม.ค. ขยายตัว 8% สั่งเร่งหามาตรการรับมือวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน หวั่นสถานการณ์ยืดเยื้อ
"พาณิชย์" เผยตัวเลขส่งออกเดือนมกราคมขยายตัว 8% สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งหามาตรการรับมือวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน เล็งบุกตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกาทดแทนกรณีสงครามยืดเยื้อ
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนมกราคม 2565 ว่าตัวเลขการส่งออกเป็น +8% มีมูลค่า 708,312 ล้านบาท โดยตลาดที่ขยายตัวสูง 10 ลำดับแรกประกอบด้วย 1. อินเดีย (+31.9%) 2. รัสเซีย (+31.9%) 3. สหราชอาณาจักร (+29.7%) 4. เกาหลีใต้ (+26.8%) 5. สหรัฐฯ (+24.1%) 6. แคนาดา (+13.6%) 7. อาเซียน (+13.2%) 8. จีน (+6.8%) 9. ลาตินอเมริกา (+5.0%) 10. สหภาพยุโรป (+1.4%)
สำหรับปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกเดือนแรกของปี 2565 เป็นบวกถึง 8% ได้แก่
1)การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน
2)ภาคการผลิตทั่วโลกยังขยายตัว ดูได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 สะท้อนว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง
3)ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งสหรัฐอเมริกากับภาคเอกชนร่วมมือกันขยายเวลาทำการในวันหยุด และเพิ่มการทำงานในช่วงกลางคืน ทำให้คล่องตัวขึ้นและตู้คงค้างลดลง
ด้านสถานการณ์ในรัสเซีย-ยูเครน รมว.พาณิชย์ ระบุว่า ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงฯ ประชุมกับภาคเอกชน ซึ่งมีทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ สมาคมธนาคารไทย สมาพันธ์ SMEs และสมาคมอื่นที่เกี่ยวข้อง มีข้อสรุปที่เป็นความเห็นร่วมกันว่า สถานการณ์ในขณะนี้ การเจรจายังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นข้อยุติ การประเมินผลกระทบที่มีต่อภาวะการค้า การส่งออก และนำเข้าของไทย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบทางตรง เพราะตลาดรัสเซียเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนการตลาดแค่ 0.38% ของไทย และตลาดยูเครน 0.04% ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก
ทั้งนี้ เมื่อเจาะรายสินค้าพบว่า ผลกระทบทางตรงอาจจะกระทบต่อสินค้าประเภทยางรถยนต์ อาหารแปรรูป อัญมณี และเครื่องสำอาง ที่ส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนเป็นต้น และในอนาคตอาจกระทบต้นทุนธุรกรรมทางการเงิน และต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรือ หากราคาน้ำมันยังสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และหากมีการปิดท่าเรือบางท่าในรัสเซียหรือยูเครน การส่งสินค้าของไทยอาจต้องเปลี่ยนท่าเรือ จะมีผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งได้
สำหรับผลกระทบทางอ้อม อาจมีเรื่องราคาพลังงานหรือราคาเหล็กนำเข้า ที่นำมาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น กระป๋องหรือการก่อสร้างเป็นต้น และผลกระทบต่อราคาธัญพืชที่นำเข้าเพื่อทำอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลี และข้าวโพด เพราะรัสเซีย-ยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก
โดยที่ประชุมได้เตรียมมาตรการต่างๆ รองรับร่วมกันหากเกิดปัญหาเอาไว้ ได้แก่ การเตรียมบุกตลาดทดแทน เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดแอฟริกา ตลาดลาติน รวมทั้งเตรียมบุกตลาดทดแทนสินค้าของรัสเซียหรือยูเครนที่ไม่สามารถส่งออกไปตลาดสำคัญในโลกได้ จะถือเป็นโอกาสเข้าไปทดแทนตลาดรัสเซียกับยูเครน เช่น มันสำปะหลัง อาจส่งไปจีนแทนข้าวโพดของยูเครน หรือผลิตภัณฑ์ยางในสหรัฐฯ อาหารสำเร็จรูปทดแทนตลาดรัสเซียยูเครน เป็นต้น
ที่มา the standard
วันที่ 2 มีนาคม 2565