"ไทย" ปักธงฟื้นเดินทาง 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นบทเรียนให้กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ต้องให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” รวมทั้งสร้างความสมดุลย์ระหว่างประเด็นสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางความพยายามของไทยจะนำภูมิภาคไปสู่เส้นทางการเติบโตในระยะยาว
 
“ธานี ทองภักดี” ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค (SOM) ครั้งที่ 1 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผ่านระบบออนไลน์ กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า การประชุมมีขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยง สู่สมดุลย์” ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่จะเข้ามาเป็นร่มใหญ่ในกรอบความคิดของการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยบูรณาการแนวคิดย่อยที่รวมเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการค้าเพื่อลดมลพิษ และการส่งเสริมทำธุรกิจที่ยั่งยืน
Open - การเปิดกว้างสู่โอกาสทางการค้าการลงทุนทั้งหมด ไทยเล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างความก้าวหน้าให้กับเอเปคผ่านเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia- Pacific : FTAAP) รวมถึงการลงทุนท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 โดยไทยมีความมุ่งมั่นจะ “คว้าโอกาส” ผ่านการรับมือที่มากับความท้าทายใหม่ๆ
 
Connect - การสร้างความเชื่อมโยงในทุกมิติ  ไทยเล็งเห็นศักยภาพในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจผ่านการส่งเสริมการเดินทางและการกลับมาเชื่อมโยงกันในภูมิภาค  
 
Balance - มีความมุ่งมั่นเปลี่ยนเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน นั่นคือ ประเด็นหลักที่เรานำเสนอในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งที่ 1 ซึ่งได้มีการประชุมถึง 30 คณะทำงานและหารือกันถึงประเด็นต่างๆในภูมิภาคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการฟื้นฟูการเชื่อมโยงและการคลังที่ยั่งยืน
มิติความก้าวหน้าการค้าการลงทุน 
 
ไทยได้เสนอให้เอเปคมีการพิจารณาผลกระทบต่อภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 เพื่อที่จะปูทางไปสู่การหารือในการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งมากขึ้น
 
เดิมในปี 2549 ผู้นำเอเปคได้ริเริ่มการหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก และในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งที่ 1 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพได้มีการนำประเด็นนี้กลับมาหารือใหม่ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงหารือในประเด็นที่เอเปคจะมีส่วนร่วมในการสร้างความตกลง FTAAP ให้เป็นความตกลงของการค้าในยุคใหม่ได้อย่างไร  
เป้าหมายของเราคือการประเมินพัฒนาการว่า จะมีความท้าทายใหม่ใหม่ที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับประเด็น FTAAP ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมรวมถึงการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ซึ่งในการพูดคุยในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งที่1 ได้มีการปูพื้นฐานไปสู่การหารือที่ลึกซึ้งและสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นในที่ประชุมรัฐมนตรีการค้า และการประชุมสภาธุรกิจเอเปค (ABAC) จะมีขึ้นเดือน พ.ค. รวมถึงการสร้างพื้นฐานให้กับการประชุมรัฐมนตรีการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) ครั้งที่ 12 ในเดือน มิ.ย.2565 
 
มิติสร้างความเชื่อมโยงในเอเชียแปซิฟิก :
 
การฟื้นการเดินทางภายใต้ข้อจำกัดระหว่างพรมแดน และมาตรการควบคุม โควิด-19 เป็นประเด็นที่ที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งที่ 1 ให้ความสำคัญและมีความพยายามทำให้เกิดการฟื้นตัวในภาคส่วนต่างๆ เพื่อเร่งรัดการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ โดยธานี กล่าวว่า ที่ประชุมเอเปคเห็นพ้องให้มีการจัดตั้ง “คณะทำงานพิเศษ ว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง” (APEC Safe Passage Taskforce) โดยมีไทยเป็นหัวหน้าคณะทำงานดังกล่าว เพื่อที่จะหารือแนวทางเชื่อมโยงและประสานงานกับเขตเศรษฐกิจที่ได้มีข้อเสนอแนะในประเด็นต่างๆ รวมไปถึงเพิ่มขอบเขตให้กับบัตรเดินทางนักธุรกิจเอเปคอีกด้วย
 
“เชิดชาย ใช้ไววิทย์” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือข้อเสนอ 6 ประการที่ครอบคลุมประเด็นต่างๆ เช่น การทำงานร่วมกันของใบรับรองวัคซีน การท่องเที่ยวปลอดภัยและยั่งยืน และการขยายโครงการบัตรเดินทางเพื่อธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card) เดิมจำกัดอยู่ในผู้บริหารระดับสูง ขณะนี้มองความเป็นไปได้ในการอัพเกรดให้ให้ครอบคลุมธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น และกลุ่มผู้ขับเคลื่อนเคลื่อนทางเศรษฐกิจในทุกระดับ ซึ่งจะสร้างการเดินทางที่เข้มแข็งในเอเปคระยะยาว 
 
ประเทศไทยได้มีข้อเสนอเรื่องหลักๆได้แก่ 1.การจัดทำพอร์ทัล (APEC Information Portal for Safe Passage Across the Region) เพื่อแลกเปลี่ยนและอัพเดทข้อมูลมาตรการเข้าเมืองระหว่างสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจได้เห็นภาพที่ตรงกัน 2.การเร่งพิจารณาฐานข้อมูลและมอบกุญแจดิจิทัล (Public key infrastructure) ให้แต่ละเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมโครงการสามารถตรวจสอบเอกสารใบรับรองวัคซีน ข้อมูลรายละเอียดผู้เดินทางได้อย่างรวดเร็ว โดยข้อเสนอทั้งหมดนี้คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้
 
ก่อนหน้านี้ ไทยได้เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยพร้อมสะดวกการเดินทางครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2565 ซึ่งมีการวางแผนจะมีข้อเสนอแนะที่นำไปปฏิบัติได้จริงและบรรลุผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพื่อที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคในเดือน พ.ค.นี้
 
“เรามุ่งหวังการทำงานในระยะยาวและเล็งเห็นถึงความเร่งด่วนในประเด็นเล่นการเปิดพรมแดนสู่การค้า เพื่อประโยชน์ให้กับประชาชนและธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศกล่าว และเสริมว่า ที่ประชุมยังเน้นย้ำว่า โควิด-19 คงไม่ใช่สิ่งเดียวที่สร้างการเปลี่ยนบนโลก แต่ยังมีอื่นๆ เกิดขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้นการฟื้นความเชื่อมโยงบนพื้นฐานความปลอดภัย จะสร้างความเชืื่อมั่นว่าจะไม่ตัดการเชื่อมโยงอย่างเมื่อสองปีที่ผ่านมา 
 
นอกจากนี้ การประชุม SOM ครั้งที่1 ได้พูดถึงการเชื่อมโยดิจิทัลในภูมิภาค เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการค้าการลงทุนรวมถึงการลดช่องว่างทางดิจิทัล ซึ่งได้ร่วมมือกับบริษัท Google ประเทศไทย จัดการแข่งขันการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ระดับเยาวชนจากทั่วภูมิภาคเอเปค เพื่อนำไอเดียมาสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาผ่านการใช้แนวทางเศรษฐกิจ BCG เพื่อสนับสนุนธุรกิจ MSMEs โดยจะเปิดรับสมัครในเดือน มี.ค.นี้ จะได้ติดตามรายละเอียดได้ในเว็บไซต์เอเปค 2022
 
ไทยมุ่งมั่นจะนำเสนอเป้าหมายกรุงเทพ (Bangkok Goal) ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งจะเป็นเอกสารแยกจากแถลงการณ์ผู้นำเอเปค ซึ่งรวบรวมความมุ่งมั่นการทำงานของเอเปคที่มุ่งสู่การเจริญเติบโตที่ยังยืนสมดุลย์และครอบคลุม เพื่อเน้นย้ำยุทธศาสตร์หลัง โควิด-19 เพื่อมุ่งสู่สู่การเติบโตที่มีคุณภาพ รวมถึงการหารือแนวทางปฎิบัติ และประสบการณ์ของของเขตเศรษฐกิจต่างๆที่จะนำแนวคิด BCG ไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 7 มีนาคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)