ร่องรอยบนโลกออนไลน์ ที่นำมาใช้ได้ในเชิงธุรกิจ

ในโลกออนไลน์มี digital footprint ที่เป็นร่องรอยทิ้งไว้โดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว สังเกตว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไร ตำรวจติดตามได้ไม่ยาก ดูข้อมูลสภาพแวดล้อมได้ว่าแถวนั้นมีกล้องวงจรปิดตรงไหนบ้าง คนร้ายอาจผ่านในช่วงเวลาไหนบ้าง ตรงไหนมีกล้องวงจรปิดอยู่ก็จะเริ่มไล่ดูได้ หากตำรวจรู้ว่าคนร้ายอยู่ช่วงเวลาไหน หรือรู้เบอร์ก็จะโยงเรื่องราวหรือข้อมูลได้ นี่คือข้อมูล footprint ทุกอย่างถอดออกมาเป็นตัวตนคนนั้นได้เลยแบบขุดรากถอนโคน
 
ฉะนั้น ในแง่การเก็บข้อมูลประวัติหรือร่องรอยดิจิทัลมี 2 อย่าง คือ
 
1)เก็บข้อมูลแบบไม่รู้ตัว (passive digital footprint) 
 
เช่น เมื่อใช้อินเทอร์เน็ตจะมีการเก็บ IP เก็บช่วงเวลา เก็บตำแหน่งที่อยู่ หรือเวลาค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล เฟซบุ๊ก โดยเฉพาะในเฟซบุ๊กทุกคำทุกข้อความที่พิมพ์ แม้ลบทิ้งหรือไม่ได้กดส่ง เฟซบุ๊กเก็บไว้หมด รวมถึงในกูเกิลแมปก็เก็บตำแหน่งของเราตลอดเวลา เฟซบุ๊กเก็บข้อมูลทุกอย่าง เก็บเสียงด้วย
 
ตอนนี้ทั้ง Apple และ Android เริ่มให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้มีข้อจำกัดมากขึ้น
 
เมื่อย้อนกลับไปดูกูเกิลจะเห็นว่าเป็นบริษัทที่มีบริการหลากหลาย หลายคนไม่ตระหนักว่าข้อมูลของเราไปอยู่ในกูเกิลมากขนาดไหน เช่น ในยูทูบ กูเกิลแมป Gmail ฯลฯ
 
กูเกิลมีบริการ 2 ตัวที่เห็นข้อมูลเราได้ คือ
 
(1)ดูกิจกรรมในกูเกิลได้ทุกกิจกรรม ที่ https://myactivity.google.com/ จะเห็นข้อมูลทุกอย่าง บอกได้ว่ามีการค้นหาอะไรไปบ้าง เข้าเว็บไหนบ้าง ฯลฯ
 
(2)ดาวน์โหลดข้อมูลที่อยู่ในทุกบริการที่กูเกิลเก็บไว้ได้ทั้งหมด ด้วยกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลของแต่ละประเทศ ส่วนสำคัญของกฎหมาย คือ เจ้าของข้อมูลต้องบริหารจัดการข้อมูลของตนเองได้จึงมีบริการชื่อ https://takeout.google.com/ เป็นบริการที่ export ข้อมูลของเราที่อยู่ภายใต้แอ็กเคานต์ของเราในกูเกิลออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นใน Google, Calendar, Map, Photo, Fit ฯลฯ
 
นั่นคือข้อมูลที่เป็น digital footprint ที่เก็บแบบเราไม่รู้ตัว ทุกการใช้บริการในโลกออนไลน์ต้องมีการกดยินยอมก่อน การกดยินยอมคือการยอมให้บริการเหล่านั้นเก็บข้อมูลของเราไป
 
digital footprint ที่เก็บแบบเราไม่รู้ตัวอีกแบบ คือ การกดเอทีเอ็ม ธนาคารจะรู้ว่าเรากดที่ไหน เท่าไหร่ เวลาไหน กล้องติดไว้ทำให้เห็นหน้าว่าเป็นใคร แม้แต่โทรศัพท์มือถือที่มีข้อมูลส่วนบุคคลเยอะมาก บอกได้แม้กระทั่งว่าเรามีพฤติกรรมการขับรถอย่างไร
 
โดยดูจากความเร็วของการเคลื่อนที่ของมือถือ บอกได้ว่าเราเป็นคนที่มีการเหยียบเบรกกระชั้นชิดหรือไม่ เป็นคนที่ขับรถแบบหักเลี้ยวทันทีหรือไม่ หรือบอกได้ว่าไลฟ์สไตล์แบบไหน ฯลฯ
 
ข้อมูลที่เก็บแบบที่เราไม่รู้ตัว หรือ passive digital footprint ค่อนข้างน่ากลัว แต่ในโลกของเทคโนโลยีหรือการติดตามของตำรวจ ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นมาก ทุกครั้งที่มีการสืบสาวเรื่องราวต่าง ๆ จะมีการหยิบมาใช้วิเคราะห์หาต้นตอ เป็นเครื่องมือในการตีแผ่เรื่องราวต่างๆ
 
2)การเก็บข้อมูลแบบตั้งใจ (active digital footprint) 
 
เช่น โพสต์ข้อมูลลงโซเชียลมีเดีย การเขียนหรือส่งข้อมูลหรือข้อความทางออนไลน์ ส่งอีเมล์
 
ในเชิงธุรกิจมีข้อมูลมากมายที่นำมาวิเคราะห์คู่ค้าหรือคู่แข่ง เราเข้าไปดูข้อมูลในบริการกระทรวงพาณิชย์ได้ หรือดูจาก Creden data แค่กรอกชื่อบริษัทก็ดูได้ถึงงบการเงิน ผู้ถือหุ้น การรับงานของภาครัฐ ประมูลงานเท่าไหร่ มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ดู credit term หากต้องการปล่อยกู้หรือให้ credit term เท่าไหร่
 
หรือการเก็บข้อมูลจากโซเชียลมีเดียของบริษัทไวซ์ไซท์ วันหนึ่งมีการเก็บข้อความที่เป็นสาธารณะเกือบ 20 ล้านข้อความ เมื่อมี big data ก็นำมาวิเคราะห์ได้ในเชิงธุรกิจ
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 10 มีนาคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)