เวียดนาม : ติดกับดักผู้ชนะในสงครามการค้า
ขณะนี้ เวียดนามเริ่มมองเห็นปัญหาที่เกิดจากการแห่เข้ามาตั้งฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีจากการทำสงครามระหว่างสหรัฐและจีนชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
สงครามการค้าที่ยืดเยื้อยาวนานและเวียดนามที่ถูกมองว่าเป็นประเทศที่ได้อานิสงส์อย่างมากจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เนื่องจากมีแรงงานวัยทำงานจำนวนมาก มีค่าแรงงานที่ไม่แพงมากนักและมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เริ่มเปลี่ยนไป โดยปัจจุบันท่าเรือต่างๆของเวียดนามมีปัญหาแออัดยัดเยียด ที่ดินราคาแพงขึ้นมาก ขณะที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มองว่าเวียดนามอาจต้องต่อสู้ดิ้นรนมากกว่านี้เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
เศรษฐกิจของเวียดนามในทุกวันนี้ถือว่าขยายตัวต่อเนื่องและเป็นหนึ่งในกลไกลการเติบโตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากได้แรงหนุนจากผู้บริโภคชนชั้นกลาง แถมยังมีจุดแข็งจากการที่เวียดนามทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศทุกกลุ่ม บวกกับการที่อุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนามขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ธุรกิจข้ามชาติตั้งแต่กูเกิล ในเครืออัลฟาเบท อิงค์ ไปจนถึง เครท แอนด์ บาร์เรล โฮลดิง อิงค์ ต่างยาตราทัพเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ตามแผนย้ายฐานห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน ที่ทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตสินค้าของโลกมานานสองทศวรรษ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ เวียดนามเริ่มมองเห็นปัญหาที่เกิดจากการแห่เข้ามาตั้งฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีจากการทำสงครามระหว่างสหรัฐและจีนชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีธุรกิจมากมายเริ่มร้องทุกข์เกี่ยวกับความแออัดยัดเยียดของท่าเรือต่างๆในเวียดนาม รวมทั้งความไม่สะดวกสบายในการส่งสินค้าทางบกจากปัญหาความไม่พร้อมของถนนเส้นต่างๆ บวกกับการที่ต้นทุนดำเนินธุรกิจแพงขึ้นมาก ทั้งในส่วนของราคาที่ดินและต้นทุนค่าแรง ส่วนกฏระเบียบต่างๆทางธุรกิจก็ไม่ได้ผ่อนคลายในลักษณะที่รวดเร็วพอที่บรรดาบริษัทข้ามชาติจะเข้าไปตั้งฐานการผลิต
เทปสทรี อิงค์ เจ้าของแบรนด์โค้ช และเคท สเปด ระบุว่ากรลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอในเวียดนามทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือบางเส้นทางเดินทางมาไม่ถึงจุดหมายปลายทาง เรือขนสินค้าบางลำต้องลอยลำกลางทะเล ขณะที่อีแคลท เท็กซ์ไทล์ โค ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัทเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาชั้นนำของโลกอย่างไนกี้ อิงค์ ยอมรับว่า ขณะนี้กำลังมองหาแหล่งผลิตอื่นๆนอกเหนือจากเวียดนาม ซึ่งรวมถึง แหล่งผลิตที่มีต้นทุนการการผลิตถูกกว่านี้
เจอรี แมททิออส รองประธานบริษัทเบน ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า ถ้าเวียดนามไม่สามารถใช้ช่องทางที่รวดเร็วในการอุดช่องโหว่ด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศได้ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียสถานะ“จีนน้อย”ที่ดึงดูดบรรดาลูกค้าของเบนแอนด์โคเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศตั้งแต่ปี2558 และต้นทุนด้านต่างๆที่สูงมากในเวียดนาม อาจจะผลักดันให้บรรดาผู้ผลิตพากันไปตั้งฐานการผลิตในศรีลังกาหรือไม่ก็กัมพูชา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนาม เปิดเผยว่า เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ)ยังคงหลั่งไหลเข้าไปในเวียดนาม โดยในช่วง8เดือนแรกของปีนี้ เอฟดีไอเพิ่มขึ้น 6.3% เป็น 12,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ส่วนบริษัทที่ขอจดทะเบียนใหม่เพื่อทำธุรกิจในเวียดนามเพิ่มขึ้น 25% เป็น 2,406 แห่ง
ต่อไปนี้คือปัญหาที่ทางการเวียดนามต้องเร่งแก้ปัญหา ก่อนที่จะติดกับดักการเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการทำสงครามการค้า เริ่มจาก ความแออัดยัดเยียดของท่าเรือ ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเวียดนาม โดยเฉพาะท่าเรือทั่วประเทศ โดยจีนอ้างว่ามีท่าเรือใหญ่ที่สุด6แห่งจากทั้งหมด10แห่งที่รองรับสินค้าจากทั่วโลก ในจำนวนนี้ รวมถึง ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ที่เป็นท่าเรืออันดับ 1 ขณะที่เวียดนามมีท่าเรือใหญ่สุดสองแห่งคือ โฮจิมินห์ ซีพอร์ท และไคเมป ซึ่งติดอันดับ 25 และอันดับ 50 จากการจัดอันดับของบลูมเบิร์ก อินเทลิเจนซ์
สัดส่วนการรองรับตู้คอนเทนเนอร์ของเวียดนามแค่ 2.5% ในปี 2560 เทียบกับจีนที่มีสัดส่วนสูงถึง 40% และเวียดนามยังขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้าทางทะเล ยังไม่มีท่าเรือขนาดใหญ่ที่รองรับเรือขนส่งสินค้าลำใหญ่ๆและยังไม่มีเครือข่ายด้านการขนส่งสินค้าที่ทำงานได้อย่างรวดเร็วพอ
รัฐบาลเวียดนาม ประมาณการว่า ต้องใช้เงินประมาณ 3.44-4.31 พันล้านดอลลาร์ในการพัฒนาท่าเรือทั่วประเทศ เพราะการที่เกิดภาวะแออัดยัดเยียดตามท่าเรือ ย่อมหมายถึงต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้าจะต้องเพิ่มขึ้น และความหลากหลายของสินค้าก็ถูกจำกัด
ขณะที่กฏระเบียบด้านการค้าการลงทุนและระบบราชการของเวียดนาม มีการปรับปรุงดีขึ้นและเอื้อต่อการเข้ามาลงทุนทำธุรกิจของบรรดาบริษัทข้ามชาติ ครอบคลุมถึงการปฏิรูปกฏระเบียบด้านการลงทุน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการดำเนินนโยบายการค้าเสรี
แต่มีปัญหาหนึ่งที่ถือว่ามีผลอย่างมากต่อการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในเวียดนาม นั่นคือ ปัญหาการคอร์รัปชัน โดยในเวียดนามยังคงมีการคอร์รัปชันสูง ซึ่งจากการจัดอันดับด้านความโปร่งใสในเวียดนามของหน่วยงานด้านความโปร่งใสระหว่างประเทศให้คะแนนเวียดนามอยู่ที่อันดับ 33 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ไม่น่าพึงพอใจนัก
นอกจากนี้ แม้ว่าเวียดนามจะมีประชากรวัยทำงานจำนวนมากแต่การจัดหาแรงงานคุณภาพสูงให้แก่บรรดาบริษัทเทคโนโลยีที่พากันย้ายฐานการผลิตเข้ามาในเวียดนามก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแม้ว่าจะมีการฝึกอบรมแรงงานต่างๆให้มีความรู้ความชำนาญเหมาะสมที่จะทำงานกับบริษัทเทคโนโลยีต่างๆก็ตาม
“ศักยภาพของเวียดนาม ในฐานะฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ ยังอีกห่างไกล เพราะเวียดนามไม่สามารถผลิตสินค้าปริมาณมากได้ดี มีคุณภาพเทียบเท่าจีน ที่สำคัญโครงสร้างพื้นฐานของเวียดนามยังไม่ดีเท่าจีน ทำให้ความสามารถด้านการผลิตของเวียดนามต่ำกว่าจีนประมาณ 25-30% ”ฌอน คิง รองประธานระดับอาวุโสของพาร์ก สตราติจีส์ แอลแอลซี ให้ความเห็นทิ้งท้าย
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2562
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ