เศรษฐกิจไทยกับสงคราม
นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565” ในงานสัมมนา “สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพ-ปริมณฑล” จัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยตลอดปี 2564 ฟื้นตัวในระดับที่น่าพอใจภายใต้สถานการณ์โรคโควิดสายพันธุ์เดลต้าระบาด โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐและการขยายตัวในเกณฑ์สูงของภาคการส่งออกทำให้เศรษฐกิจทั้งปีกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ 1.6% สูงกว่าการคาดการณ์ของสภาพัฒน์ และของหลายหน่วยงานที่คาดว่าจะขยายตัว 1%
ส่วนด้านการใช้จ่าย การขยายตัวทั้งปี มีปัจจัยสนับสนุนจากแรงขับเคลื่อนของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ และการขยายตัวสูงของการส่งออกสินค้า ขณะที่การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนยังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ และการท่องเที่ยวยังมีข้อจำกัดในการขยายตัวต่อเนื่องจากข้อจำกัดที่เกิดจากการระบาดของโควิดในด้านการผลิต ขยายตัวในเกณฑ์ดี สาขาอุตสาหกรรม การเกษตร การก่อสร้าง การเงิน บริการสุขภาพ แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวจากปี 2563 แต่ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งปียังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดระบาดในปี 2562 หรือกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวไม่เท่าเทียม หรือที่เรียกว่า k shape
ปี 2565 ก่อนเกิดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน สภาพัฒน์คาดการณ์เศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.5-2.5% มีปัจจัยสนับสนุนคือ 1.การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศเพราะโควิดคลี่คลาย รัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุม 2.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 3.เศรษฐกิจขยายตัวและปริมาณการค้าโลกอยู่ในเกณฑ์ดี
ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือ 1.การกลายพันธุ์โอมิครอน 2.ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก 3.ปัญหาอุปสรรคในห่วงโซ่อุปทานโลกที่อาจยืดเยื้อ 4.ข้อจำกัดด้านฐานะการเงินภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ 5.ระดับราคาสินค้า เงินเฟ้อ ในประเทศ ปรับตัวขึ้นเร็วกว่าคาดการณ์ ยิ่งเมื่อผนวกกับปัจจัยจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าเป้า ตอกย้ำให้เห็นว่าสงครามเป็นตัวซ้ำเติมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้สงครามจะเกิดที่ยูเครนซึ่งห่างจากไทยมาก แต่ทั้งรัฐบาลและประชาชนต่างได้รับผลกระทบ และถ้าเมื่อใดการเจรจาสงบศึกบรรลุผล ปัจจัยสันติภาพจะช่วยทำให้เศรษฐกิจดูดีขึ้น
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 24 มีนาคม 2565