วิกฤตยูเครน-ราคาน้ำมัน ทำสายการบินคาร์โกอ่วมแบกหนักต้นทุนพุ่ง
วิกฤตการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงการปิดน่านฟ้า กำลังส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดการขนส่งสินค้าทางอากาศ นอกจากสายการบินต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นแล้ว การขนส่งสินค้ายังขยายตัวในอัตราที่ลดลงด้วย
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาต้า (IATA: International Air Transport Association) เปิดเผย รายงานวิเคราะห์ตลาดการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo Market Analysis) รายเดือนพบว่า สถานการณ์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการขนส่งสินค้าทางอากาศ โดยเริ่มเห็นผลกระทบตั้งแต่ปลายเดือนก.พ. เป็นต้นมา สายการบินคาร์โกต้องแบกภาระต้นทุนที่พุ่งสูง ขณะที่การขนส่งสินค้าทางอากาศเติบโตลดลง เหตุจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำราคาน้ำมันเชื้อเพลิงพุ่งแรงเป็นประวัติการณ์
รายงานของ IATA เปิดเผยว่า การปิดน่านฟ้าระหว่างกันส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศรัสเซีย รวมถึงสายการบินจากประเทศอื่น ๆ ที่ใช้เส้นทางบินผ่านรัสเซียก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย เช่น เส้นทางบินระหว่างยุโรป-เอเชีย และสายการบินส่วนหนึ่งอาจเลือกปรับเส้นทางจากเดิมที่ผ่านน่านฟ้ารัสเซีย สู่การบินผ่านประเทศในแถบตะวันออกกลางแทน การปรับเส้นทางบินไกลขึ้นทำให้ต้องแบกรับต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นด้วย และคาดว่าอาจทำให้สายการบินต้องปรับขึ้นค่าบริการขนส่ง
นายวิลลี วอลช์ ผู้อำนวยการใหญ่ของไออาต้า เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรวมทั้งการตอบโต้ของรัสเซีย ประกอบกับราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น ความไม่แน่นอนของการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งหมดนี้ผนวกรวมส่งผลต่อตลาดการขนส่งทางอากาศ คาดว่าปริมาณการขนส่งจะได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์เหล่านี้และอัตราค่าขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่จะเพิ่มมากน้อยแค่ไหน ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ในขณะนี้
ทั้งนี้ แม้รัสเซียจะมีสัดส่วนของการขนส่งสินค้าทางอากาศเพียง 0.6% ของปริมาณรวมทั้งโลก (ข้อมูลปี 2564) แต่ตลาดการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียและยุโรป มีสัดส่วนสูงถึง 20.6% ของปริมาณการขนส่งสินค้าของทั้งโลกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ผลกระทบจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังส่งผลให้ราคาน้ำมันอากาศยานปรับตัวสูงขึ้น โดยข้อมูลจาก IATA Jet Fuel Price Monitor ชี้ว่า ปัจจุบันมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ราว 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนสายการบินพาณิชย์ และสายการบินที่ขนส่งสินค้า(คาร์โก) เพิ่มสูงขึ้น
ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ยังพบว่า ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของการส่งสินค้าทางอากาศ โดยปริมาณความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลก ซึ่งมีหน่วยวัดเป็นตันต่อกิโลเมตร:CTKs ของเดือนม.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค. 2564 แต่ก็ยังต่ำกว่าการเติบโตที่ระดับ 9.3% ในเดือนธ.ค. 2564
สำหรับปริมาณการส่งสินค้า (ในหน่วยวัด CTKs) ของสายการบินในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในเดือนม.ค.2565 ปรับเพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และลดลงจากเดือนธ.ค. 2564 ที่มีอัตราเติบโตอยู่ที่ 16.7%
ส่วนจำนวนเที่ยวบินขนส่งสินค้าในภูมิภาคเอเชียในเดือนม.ค. 2565 พบว่าเส้นทางเอเชีย-อเมริกาเหนือ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่เส้นทางเอเชีย-ตะวันออกกลาง ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อปรับค่าฤดูกาล (Seasonally Adjusted) แล้วพบว่า ทั้งสองเส้นทางปรับตัวลดลง 5.0% และ 3% ตามลำดับ
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 25 มีนาคม 2565