เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยเสี่ยงดับ เอกชนชะลอลงทุน-อีอีซีสะดุด

สภาพัฒน์ชี้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเหลือแค่ 2 ตัวหลัก “ลงทุนภาครัฐ-ส่งออก” ลงทุนภาคเอกชนเข้าโหมด “wait and see” เร่งเข็นลงทุน “รัฐ-รัฐวิสาหกิจ” 1 ล้านล้าน จี้ไฮสปีด 3 สนามบินเดินเครื่อง “คลัง-ธปท.-สภาพัฒน์” หวั่นผลกระทบแซงก์ชั่น “รัสเซีย-ยูเครน” ลากยาวแม้สงครามยุติ คาดจีพีดีไทยโตแค่ 3% “ทีทีบี” เผยราคาพลังงานดันนำเข้าพุ่ง ฉุดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง กดดันบาทอ่อนค่า เป็นปัญหา “งูกินหาง” สภาอุตฯกังวลเปลี่ยนตัว “เลขาฯอีอีซี” กระทบแผนลงทุนไม่เป็นไปตามเป้า เอฟเฟ็กต์ความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะฟื้นตัวช้า หลังเผชิญภาวะวิกฤตจากโรคระบาดโควิด-19 และยังโดนซ้ำเติมจากปัญหาสงครามรัสเซียและยูเครนทำให้ส่งผลกระทบการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้
 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า การลงทุนภาครัฐยังคงเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ โดยยอมรับว่าผลกระทบจากสงครามรัสเซียกับยูเครนจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงเล็กน้อยจากประมาณการเดิม
 
แต่ไม่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่จะกระทบเศรษฐกิจไทยในภาพรวม เพราะยังมีโครงการลงทุนอีกหลาย ๆ โครงการ อย่างอีอีซีก็ยังคงเป็นตัวหลักที่สำคัญที่ต้องช่วยกันผลักดัน รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ต้องเดินหน้าต่อไป
 
“ภาครัฐยังสำคัญ เพราะยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องลงทุนอยู่ ส่วนเอกชนก็จะค่อย ๆ ฟื้น” นายอาคมกล่าว
 
โครงสร้างเศรษฐกิจเก่าฉุดรั้ง :
 
นายอาคมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “อนาคตประเทศไทยกับสินทรัพย์ดิจิทัล” ในงานสัมมนาสินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต จัดโดยประชาชาติธุรกิจว่า วันนี้มีคำกล่าวว่า ไทยต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่ยังอยู่ในแบบเก่า
 
ดังนั้น เรื่องของการรองรับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เพิ่มเติมเข้ามา โดยมีผลกระทบชัดเจนต่อราคาสินค้า เพราะว่าอัตราเงินเฟ้อได้เห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว
อย่างไรก็ดี นโยบายทางการเงินในประเทศตะวันตกที่เริ่มออกมาคาดการณ์ว่า ปัญหาอัตราเงินเฟ้ออยู่ในแนวโน้มลดลง ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต้องเรียกว่าเป็นปัญหาระยะสั้น และจากประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของไทยก็มองปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเฉพาะชั่วคราว
 
ถึงเวลารื้อ “ท่องเที่ยว” :
 
นายอาคมกล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจแบบเก่า แน่นอนว่าไทยยังคงพึ่งพาภาคธุรกิจบริการ โดยมีการท่องเที่ยวเป็นหลัก และเมื่อมีโควิดเข้ามาก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเมื่อเทียบกับในอาเซียน ฉะนั้นในโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ จะต้องดูเรื่องการสร้างมูลค่าให้กับภาคการท่องเที่ยวที่แตกต่างไปจากเดิม
 
“เรื่องคุณภาพของการท่องเที่ยวไทยมีการพูดถึงกันมานาน แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ดูเรื่องนี้เท่าไหร่ กลับไปมุ่งเน้นในเรื่องของจำนวนมากกว่า ซึ่งหากต้องการสร้างคุณภาพให้กับการท่องเที่ยว จะต้องเข้าไปดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่มีค่ามากที่สุด” รมว.คลังกล่าว
 
นอกจากนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โครงสร้างหนึ่งที่เข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีดิจิทัล และต่อไปนี้จะเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องของดิจิทัลไปหมด เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นก็ย่อมได้ เพราะว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการทางเทคโนโลยีดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงให้เกิดสินทรัพย์ใหม่ประเภทหนึ่งขึ้น คือ สินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีการกระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็เห็นได้ว่าเกิดขึ้นกับทั่วโลก
 
สศช.ชี้เหลือ 2 เครื่องยนต์หลัก :
 
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้าจะเกิดสถานการณ์รัสเซียกับยูเครน สศช.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวราว 3.5-4% ต่อปี ขับเคลื่อนด้วย 3-4 เครื่องยนต์หลัก
ได้แก่ การส่งออก, การลงทุนภาคเอกชน ที่เตรียมขยายกำลังการผลิตรับส่งออกที่ดีขึ้น ตลอดจนการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ตามที่ภาครัฐส่งเสริม และการเข้ามาลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการลงทุนภาครัฐ และการบริโภคภายในประเทศกับการท่องเที่ยว
 
“แต่พอมีเรื่องรัสเซียกับยูเครนเข้ามา ซึ่งปกติเมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ การลงทุนภาคเอกชนจะชะลอตัวลงไป เพราะเอกชนก็คง wait and see หรือรอดูสถานการณ์ไปก่อน รวมถึงการบริโภคก็คงจะชะลอเหมือนกัน เพราะราคาน้ำมัน ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น กระทบค่าครองชีพ
 
แต่ว่าก็ต้องรอดูตัวเลขเดือน ก.พ.-มี.ค.ว่าผลกระทบเป็นอย่างไร เพราะเดือน ม.ค.ยังดีอยู่ ดังนั้นก็จะเหลือ 2 เครื่องยนต์หลัก ๆ ในปีนี้ คือ การส่งออก กับการลงทุนภาครัฐ ที่จะเป็นตัวหลักของปีนี้” นายดนุชากล่าว
 
เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่า นอกจากนี้ ด้วยราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รวมถึงราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ รวมถึงปุ๋ยเคมีที่จีนจำกัดการส่งออก แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบในด้านราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น และคงส่งผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย
 
แต่สุดท้ายแล้วดุลบัญชีเดินสะพัดจะเป็นลบหรือบวก ยังฟันธงไม่ได้ในขณะนี้ รวมถึงยังมีเรื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นอีกด้วย เช่น ทองแดง นิกเกิล อะลูมิเนียม เป็นต้น ซึ่งก็เป็นวัตถุดิบที่ไทยต้องนำเข้ามาใช้ในการผลิตเช่นกัน
 
เร่งแผนไฮสปีด 3 สนามบิน :
 
สำหรับการลงทุนภาครัฐปีนี้ นายดนุชากล่าวว่า จะมีงบประมาณรายจ่ายลงทุนที่อยู่ในงบประมาณแผ่นดินปี 2565 ราว 7 แสนล้านบาท ซึ่งมีการทำโครงการหลาย ๆ ประเภท อาทิ ถนน แหล่งน้ำ สร้างอาคาร เป็นต้น ขณะที่มีงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 2-3 แสนล้านบาทที่จะลงทุนในปี 2565 รวมถึงโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อนุมัติระหว่างปี ที่อยู่ในไปป์ไลน์
 
อาทิ โครงการรถไฟทางคู่, โครงการขยายสนามบินดอนเมือง เป็นต้น หลาย ๆ โครงการรวมแล้วก็มีเม็ดเงินเป็นหลักแสนล้านบาท ซึ่งต้องเร่งผลักดันออกมา โดยส่วนนี้คาดว่าจะออกมาได้ช่วงไตรมาส 3-4 ของปี เพราะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต้องใช้เวลา
“สำหรับรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินก็คงต้องเริ่มลงมือก่อสร้างแล้ว เพราะที่ผ่านมาก็ปรับสัญญาอะไรกันไปแล้ว ซึ่งโครงการเซ็นสัญญาไว้ก็ต้องเดินหน้าไปตามสัญญา” นายดนุชากล่าว
 
สศช.-คลัง-ธปท. ห่วงสงคราม :
 
นายดนุชากล่าวว่า จากการหารือ 3 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ คือ สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินกันว่า ถึงแม้การสู้รบจะยุติ แต่โอกาสที่ผลกระทบก็น่าจะยังยืดเยื้อ จากที่มีการคว่ำบาตร (แซงก์ชั่น) ระหว่างกันอยู่ ซึ่งตรงนี้จะเป็นทั้งข้อจำกัด และโอกาสสำหรับภาคการส่งออกของไทย รวมถึงการดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ
 
“ตอนนี้ปัญหาราคาน้ำมันถูกซ้ำเติมเข้าไปด้วยวิกฤตรัสเซียกับยูเครน ซึ่งสินค้าที่ถูกห้ามส่งออกจากรัสเซีย โดยเฉพาะข้าวสาลีที่เป็นปัจจัยสำคัญทางด้านอาหาร ที่รัสเซียส่งออก 30% ของตลาดโลก เราก็ถูกกระทบไปด้วย โดยที่ผ่านมาบางช่วงเวลา เราต้องนำเข้ามาผสมเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งสถานการณ์ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบเร็ว” นายดนุชากล่าว
 
อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 หน่วยงานมองกันว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้ระดับกว่า 3% ต่อปี ซึ่งชะลอจากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ 3.5-4.5% ขณะนี้ไม่เห็นสัญญาณเกิดเศรษฐกิจชะลอตัวท่ามกลางเงินเฟ้อสูง (stagflation) หรือเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดภาวะดังกล่าว
 
รับมือ “สงครามเย็น” :
 
สำหรับการรับมือสถานการณ์สงครามที่ยืดเยื้อ นายดนุชากล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้น โลกก็จะกลับไปเหมือนสมัยสงครามเย็นที่มีการแบ่งขั้วกัน แต่ไทยเป็นประเทศเล็กก็ต้องวางตำแหน่งให้ดี เพราะการจะไปเลือกข้างใดข้างหนึ่งอาจจะมีปัญหาได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมาพิจารณาเรื่องภาคการผลิตที่ต้องทำให้ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตที่ต้องนำเข้าลง โดยเฉพาะปัจจัยการผลิตด้านการเกษตร
 
“การรับมือสถานการณ์ที่อาจยืดเยื้อ การจะบอกว่าต้องทำอะไรอีกไหม ในตอนนี้ก็พูดยาก เพราะคาดเดาสถานการณ์ได้ยาก ดังนั้นตอนนี้รัฐบาลจึงเป็นการออกมาตรการมาช่วยลดผลกระทบในช่วง 3 เดือนก่อน จากนี้ก็ต้องติดตามสถานการณ์เพื่อมาปรับมาตรการในช่วงถัดไป โดยต้องออกมาตรการให้ตรงเป้า มุ่งไปกลุ่มที่เปราะบางก่อน” นายดนุชากล่าว
เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า เรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ขณะนี้ก็ดำเนินการกันอยู่ อาทิ การส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่เป็นการปรับโครงสร้างการผลิตรับเทรนด์ของโลก รวมถึงการออกมาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีทักษะสูงเข้ามาทำงาน มาพำนักในเมืองไทย ผ่านมาตรการ LTR (long-term resident visa) ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างด้านการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพขึ้น แล้วก็มีเรื่องการปรับด้านเกษตรไปสู่เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น
 
ttb ชี้ “ส่งออก” ยังเป็นตัวหลัก :
 
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ การบริโภคภาคเอกชนคงชะลอตัวลง โดยน่าจะโตแค่ 2.7% เพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายประชาชนเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ยังไม่ฟื้น แถมหนี้ยังสูงจึงกดดันการใช้จ่ายของครัวเรือนอยู่
 
ส่วนเครื่องยนต์หลักเศรษฐกิจไทยปีนี้ก็คงต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหาร เกษตรแปรรูป น่าจะเป็นดาวเด่นได้ ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ หรือรถยนต์ ต้องดูว่าการขาดแคลนชิ้นส่วนหรือซัพพลายดิสรัปชั่นจะลากยาวแค่ไหน
 
ส่วนภาครัฐ ในแง่การกระตุ้นการบริโภคต่าง ๆ ก็คงพอช่วยไปได้ในระยะสั้น 3-6 เดือน แต่หากวิกฤตลากยาวไปอีก ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร ส่วนในแง่เครื่องยนต์การลงทุนภาครัฐนั้นก็คงประคองไปได้ เพียงแต่สัดส่วนใน GDP มีแค่ 5-6% เท่านั้น
 
ขาดดุลกด “บาทอ่อน” งูกินหาง :
 
นายนริศกล่าวด้วยว่า การนำเข้าในภาวะราคาสินค้า ราคาพลังงานสูงนั้น ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยก็คงขาดดุล เพราะไทยนำเข้าน้ำมันและก๊าซรวม ๆ แล้ว 6% ของ GDP แต่หากส่งออกยังพอไปได้ก็น่าจะช่วยกันไปได้
 
“แน่นอนว่าถ้าขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะมีผลกระทบทำให้เงินบาทอ่อนค่าไปอีก ซึ่งเดิมคิดว่าจะปิดขาดดุลได้สิ้นปีนี้ แต่แบบนี้ก็คงยากแล้ว ทั้งนี้ แม้บาทอ่อนจะดีกับผู้ส่งออก แต่การนำเข้าก็จะยิ่งแพง ผลกระทบก็เป็นงูกินหาง อย่างไรก็ดี หากขาดดุลไม่มากนัก แค่ 1-2% ของ GDP เราน่าจะพอสู้ภาวะแบบนี้ไปได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ที่ผ่านมาก็เคยเป็นมาแล้ว” นายนริศกล่าว
 
กสิกรไทยหั่นจีดีพีไทยโต 2.5% :
 
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ได้ทบทวนประมาณการขยายตัวจีดีพีปี 2565 จากสงครามรัสเซียและยูเครนที่เป็นปัจจัยความเสี่ยงเพิ่มเติมแรงกดดันราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจากเดิม นอกเหนือจากโควิด-19 และปัญหาคอขวดของเซมิคอนดักเตอร์ที่มีอยู่แล้ว
 
โดยแบ่งเป็น 2 สมมติฐาน คือ กรณีฐาน (base case) การเจรจาสันติภาพรัสเซีย-ยูเครนไม่สามารถตกลงได้ และการสู้รบยืดเยื้อ มาตรการคว่ำบาตรยังคงอยู่ทั้งปี ส่งผลต่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น กรณีนี้คาดว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปี 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเงินเฟ้อไทยจะสูงขึ้น 4.5% จีดีพีจะขยายตัว 2.5%
 
กรณีดี (best case) การเจรจาสันติภาพตกลงกันได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ จะเห็นราคาน้ำมันย่อตัวลงเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงเหลือ 3.8% โดยจีดีพีขยายตัว 2.9% จากประมาณการ ธ.ค. 64 มองว่าขยายตัว 3.7% เงินเฟ้ออยู่ที่ 2.1%
 
สภาอุตฯห่วงเปลี่ยนตัวเลขาฯอีอีซี :
 
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ต้องมุ่งเดินหน้าต่อในส่วนของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เพราะนี่จะเป็นจุดขายของประเทศในการดึงดูดการลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
 
นอกจากนี้ ภาคเอกชนก็เป็นกังวลถึงการเปลี่ยนผ่านของอีอีซี เนื่องจาก ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาฯอีอีซี จะครบวาระในไตรมาส 3 ปีนี้ ก็ต้องรอความชัดเจนว่า ผู้ที่จะมารับไม้ต่อจะเป็นใคร หากเป็นผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจงาน สามารถดำเนินการต่อได้ และได้รับการยอมรับจากภาคธุรกิจต่าง ๆ ก็จะได้รับเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติในการตัดสินใจมาลงทุนในอีอีซี
 
ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รายได้จากภาคการลงทุนยังถือเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไทยยังต้องเดินหน้าผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยยังมองว่านายคณิศจะยังได้ดำรงตำแหน่งต่อ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
 
รัสเซีย-ยูเครนทุบส่งออก Q2 :
 
นายสนั่นกล่าวเพิ่มเติมว่า มองแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศไทยในปี 2565 อาจจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ 3 สมมุติฐาน ระหว่าง 2.7-3.7% (ตามระยะเวลาที่สถานการณ์คลี่คลาย 3 เดือน-1 ปี) ปัจจัยหลักมาจากเรื่องรัสเซีย-ยูเครนที่อาจกระทบต่อภาคการส่งออกและการนำเข้าสินค้า ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้
 
จากที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากต้นทุนค่าระวางเรือที่สูง ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ คาดว่าจะทำให้ส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวลดลงเหลือประมาณ 4-5% นอกจากนี้ ปัญหาราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นที่กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ราคาสินค้า และส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อขยายตัวสูงสุด 4.5-5.5%
 
จี้รัฐเปิดประเทศ-เร่ง FTA อียู :
 
นายสนั่นกล่าวว่า รัฐบาลควรพิจารณาเปิดประเทศให้เร็วขึ้น จากเดิมที่กำหนดไว้ 1 ก.ค. ควรเปิดในเดือน พ.ค. 2565 โดยปลดล็อกเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศ ให้เหลือเพียงแค่การใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนเท่านั้น ขณะเดียวกัน ไทยต้องเร่งสร้างเครื่องมือที่จะช่วยภาคธุรกิจในการเดินหน้าการส่งออก
 
โดยเฉพาะการเร่งทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งตอนนี้ไทยดำเนินการล่าช้ามากแล้ว ขณะที่เวียดนามเจรจาเปิดเอฟทีเอไปแล้วกับ 56 ประเทศ แต่ไทยเปิดเอฟทีเอไปเพียง 20 ประเทศ ซึ่งเอกชนไทยที่ไปลงทุนเวียดนามสะท้อนว่าการผลิตและส่งออกจากเวียดนามไปอียูได้ประโยชน์มาก
 
พร้อมกันนี้ นายสนั่นกล่าวถึงการเตรียมจัดการประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ประจำปี ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 โดยในปีนี้ได้เชิญ รองนายกรัฐมนตรี 4 ท่าน คือ นายวิษณุ เครืองาม, นายดอน ปรมัตถ์วินัย, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ปาฐกถาให้ภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกมิติ หัวข้อ Ease of Doing Busines มุมมองกฎระเบียบและการค้าระหว่างประเทศ การดูแลราคาสินค้าค่าครองชีพ การลงทุนและด้านพลังงาน
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 26 มีนาคม 2565   

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)