หวั่นตลาดการเงิน-เศรษฐกิจโลกชะงัก หลังเซี่ยงไฮ้ล็อกดาวน์ สกัดเคสโควิดพุ่ง
หลายประเทศทั่วโลกตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด แม้สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่พบล่าสุดจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกระลอกก็ตาม แต่จีนถือเป็นข้อยกเว้นจากประเทศเหล่านั้น
โดยจีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประเทศเดียวที่ยังคงใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มงวด เพื่อขจัดการแพร่กระจายของโควิดภายในประเทศ แต่นโยบายดังกล่าวทำให้เกิดเมฆหมอกปกคลุมแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก ท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายที่นักลงทุนเผชิญอยู่แล้วในเวลานี้ จากผลกระทบของสงครามในยูเครนและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น
ตั้งแต่วันจันทร์ (28 มีนาคม) ประชากรราว 11 ล้านคนในฝั่งตะวันออกของเซี่ยงไฮ้จะถูกห้ามไม่ให้ออกจากบ้านเป็นเวลา 4 วัน ขณะที่ทางการเร่งปูพรมตรวจหาเชื้อโควิด จากนั้นการล็อกดาวน์จะย้ายไปอีกฟากของเมือง ซึ่งมีประชากรประมาณ 14 ล้านคน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ (1 เมษายน)
การประกาศดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกร่วงลงทันที เนื่องจากเทรดเดอร์คาดการณ์ว่า การล็อกดาวน์จะส่งผลกระทบต่อความต้องการน้ำมันจากจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก โดยจีนนำเข้าน้ำมันประมาณ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยังคงปิดแดนบวกได้ โดยวานนี้ ดัชนี Shanghai Composite ปิดตลาดปรับตัวขึ้นเกือบ 0.1% ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ยังคงเปิดทำการซื้อขายตามปกติในช่วงของการล็อกดาวน์ และจะให้บริการแบบออนไลน์สำหรับบริษัทที่ต้องการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาด
การล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เพียงเพราะขนาดของเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะเซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางทางการเงินและเศรษฐกิจที่สำคัญ ไม่เฉพาะของจีน แต่ในระดับโลก
แลร์รี หู จากบริษัท Macquarie Capital ระบุในบทวิเคราะห์ที่ส่งถึงลูกค้าว่า เซี่ยงไฮ้คิดเป็นประมาณ 4% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจของจีน แต่เนื่องจากเซี่ยงไฮ้เป็น ‘ศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ผลกระทบทางอ้อมก็อาจมหาศาลเช่นกัน’
การล็อกดาวน์และความไม่แน่นอนว่าทางการจีนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปในการต่อสู้กับโควิด ถือเป็นภัยคุกคามต่อเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ประมาณ 5.5% ซึ่งนับว่าต่ำมากอยู่แล้ว โดยเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี
“จีนน่าจะสามารถควบคุมไวรัสได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากการล็อกดาวน์มีผลบังคับใช้” หูกล่าว “แต่โควิดสร้างความเสี่ยงอย่างมากต่อการเติบโตในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากการล็อกดาวน์นั้นมีราคาสูง”
การใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนซึ่งถูกกดดันอย่างหนักอยู่แล้ว มีแนวโน้มที่จะแบกรับความเจ็บปวดนี้อย่างรุนแรง
นอกจากผลกระทบในประเทศแล้ว บรรดานักวิเคราะห์กำลังจับตาว่า ตลาดโลกจะได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ในครั้งนี้หรือไม่ คำถามสำคัญพุ่งตรงไปที่ภาคการผลิตและการขนส่ง โดยเกิดความกังวลว่าห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกจะยิ่งตึงตัว และราคาสินค้าจะแพงขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ดี สื่อของรัฐบาลจีนรายงานว่า ท่าเรือหลักๆ ของเซี่ยงไฮ้ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ และในระหว่างการล็อกดาวน์เมืองเซินเจิ้นทางตอนใต้ของจีนเมื่อต้นเดือนนี้ ผู้ผลิตหลายรายได้ย้ายการดำเนินงานไปยังส่วนอื่นๆ เพื่อจำกัดผลกระทบอันเนื่องมาจากมาตรการชั่วคราวต่างๆ
“ผลกระทบต่อกิจกรรมการผลิตน่าจะสามารถจัดการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการล็อกดาวน์เกิดขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ และเกิดขึ้นนานๆ ครั้ง” นักเศรษฐศาสตร์จาก Bank of America ระบุในบทวิเคราะห์ล่าสุด
แต่คาดว่ายังคงมีแนวโน้มที่จะเกิดการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน โดยสื่อหลายสำนักรายงานว่า Tesla จะระงับการผลิตที่โรงงานในเซี่ยงไฮ้เป็นเวลา 4 วัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 29 มีนาคม 2565