ศูนย์จีโนมฯ เปิดข้อมูล "ติดเชื้อโควิดซ้ำ" น่ากังวลหรือไม่
วันนี้ (29 มีนาคม) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความและภาพผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการพบการติดเชื้อซ้ำของโรคโควิดภายในเวลา 1 เดือน คือสิ่งที่น่ากังวลใจหรือไม่ เพราะเหตุใด ในรูปแบบของการถาม-ตอบ กับคำถาม 4 ประเด็นที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจการติดเชื้อซ้ำของโควิดมากขึ้น ดังนี้
1)การติดเชื้อโควิดซ้ำภายใน 1 เดือน และติดในช่วงนี้ (กุมภาพันธ์-มีนาคม 2565) น่ากังวลใจหรือไม่ เพราะเหตุใด
คำตอบคือ ‘น่ากังวล’ เพราะการแพร่ระบาดในช่วงนี้ของประเทศไทยและของโลกเป็นช่วงการเปลี่ยนถ่ายจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 มาเป็น BA.2 โดยทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงจัดให้ BA.1 และ BA.2 เป็นเพียงสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน และให้คำแนะนำในการป้องกัน ดูแล และรักษา BA.1 และ BA.2 ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ทำให้ยังไม่มีข้อมูลมารับมือกับการติดเชื้อโควิดซ้ำในรอบนี้
2)การพบผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 จากนั้นภายใน 20-60 วันถัดมาจะมีโอกาสพบการติดเชื้อซ้ำอีกครั้งซ้ำหรือไม่ และมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน
คำตอบคือ มีข้อมูลการศึกษาผลการติดเชื้อซ้ำในผู้ป่วยโควิดของประเทศเดนมาร์ก ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 – 11 กุมภาพันธ์ 2565 จากผู้ติดเชื้อจำนวน 1,848,466 คน ได้ส่งตัวอย่างทั้งหมดเข้าถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว พบว่ามีการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 จำนวน 187 ราย และในจำนวนนี้มี 47 ราย พบว่ามีการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.1 มาก่อนที่จะติดเชื้อซ้ำด้วย BA.2 ในระยะเวลาระหว่าง 20-60 วัน (นับจากวันที่ติดเชื้อ BA.1)
โดยสรุปจากผู้ติดเชื้อ 1,848,466 คน มีการติดเชื้อจาก BA.1 มาก่อนที่จะติดเชื้อ BA.2 ซ้ำจำนวน 47 ราย โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย
3)เหตุใด WHO ยังคงจัดให้สายพันธุ์ย่อยอย่าง BA.1 และ BA.2 เป็นเพียงสายพันธุ์ย่อยในโอมิครอน และให้คำแนะนำในการป้องกัน ดูแล และรักษา BA.1 และ BA.2 ที่ไม่แตกต่างกัน ทั้งที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อซ้ำในช่วงหลัง
คำตอบคือ เพราะข้อมูลที่ WHO ได้รับจากทั่วโลก สรุปได้ว่าการติดเชื้อซ้ำจาก ‘BA.1 แล้วไปติด BA.2 ซ้ำ’ คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่พบไม่บ่อยครั้งนัก ประกอบกับผู้ติดเชื้อซ้ำ BA.2 ไม่มีอาการไม่รุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต
อันหมายถึงภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากการติดเชื้อ BA.1 ยังคงสามารถป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง และป้องกันการเสียชีวิตจาก BA.2 ได้ดี แม้มีอัตราช่วยได้ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ประกอบกับผู้ติดเชื้อซ้ำ BA.2 ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับฉีดวัคซีน นั่นจึงอาจเปรียบได้ว่า การฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ดีกว่าในกลุ่มที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเลย
4)มีโอกาสพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนย่อย BA.2 ครั้งแรก แล้วย้อนกลับมาติดเชื้อสายพันธุย่อย BA.1 หรือบรรดาสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อนหน้า เช่น เดลตา ได้หรือไม่
คำตอบคือ จากการศึกษาการติดเชื้อซ้ำในประชากรประเทศเดนมาร์ก ระหว่าง 22 พฤศจิกายน 2564 – 11 กุมภาพันธ์ 2565 จากผู้ติดเชื้อจำนวน 1.8 ล้านคน ยังไม่พบการติดเชื้อ BA.2 ครั้งแรก แล้วกลับมาติดเชื้อ BA.1 หรือบรรดาสายพันธุ์ที่เคยระบาดมาก่อนหน้าซ้ำอีก ซึ่งพอสรุปได้ว่าภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ BA.2 ตามธรรมชาติ มีโอกาสสร้างเกราะคุ้มกันการติดเชื้อ BA.1 และสายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยระบาดมาก่อนหน้านี้ได้ดี
ที่มา the standard
วันที่ 29 มีนาคม 2565