เอกชนจีนไทเปศึกษาลู่ทางลงทุนเพิ่มในไทย
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 มหาวิทยาลัยฝอกวง จีนไทเป ได้จัดการบรรยายวิชาการ เรื่อง “การขับเคลื่อนธุรกิจจีนไทเปในอาเซียนในช่วงวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19” โดยการบรรยายในส่วนของไทย มีนายพลศักดิ์ เรืองปัญญาโรจน์ และนายอดิสร วงศ์จิตตาโภค ผู้บริหารจากสถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์ และนายหลี่ จื้อเต๋อ ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Vision Thai เป็นผู้บรรยาย โดยมีผู้ฟังการบรรยายประมาณ 100 คน เป็นผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนในไทย คณาจารย์และนักศึกษา ซึ่งรับฟังภาพรวมโอกาสการลงทุนในไทย
ในการบรรยายดังกล่าว วิทยากรได้ให้ข้อมูลภาพรวมเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในไทย และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ภาคเอกชนจีนไทเปเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีการเปิดธุรกิจในไทยมากถึง 5,000 บริษัทในพื้นที่โดยรอบกรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง อยุธยา เชียงใหม่ และเชียงราย โดยมีขนาดธุรกิจใหญ่ เช่น บริษัทเดลต้า บริษัท cal-comp (CCET) ธนาคาร LH Bank (ธนาคาร CTBC จีนไทเปถือหุ้นร้อยละ 44) บริษัท KG บริษัท Asus บริษัท Acer เป็นต้น โดยในปี 2564 เอกชนจีนไทเปลงทุนในไทยมีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 5 รองจากญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา แม้นักลงทุนจีนไทเปในไทยบางส่วนมองว่า ไทยยังมีอุปสรรคท้าทายขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น ขาดแคลนบุคลากรและบริษัทนวัตกรรมขนาดใหญ่ การส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ที่น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จำนวนประชากรวัยแรงงานลดลง เป็นต้น
นอกจากนี้ วิทยากรยังได้ให้ข้อมูลภาพรวมเกี่ยวกับภาคส่วนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจไทยในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 กล่าวคือ สถานการณ์ระบาดได้กระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่และการดำรงชีพยังสามารถดำเนินต่อไปได้ เช่น ยา ค้าปลีก โลจิสติกส์ นอกจากนี้ การระบาดของโรคได้ทำให้ภาคธุรกิจปรับตัวอย่างมาก โดยเฉพาะหันเข้าหาการค้าแบบ e-commerce และ social media และ application เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
ทั้งนี้ นายหลี่ จื้อเต๋อ ได้บรรยายถึงโอกาสสำหรับผู้ประกอบการจีนไทเปในการลงทุนในไทยว่า ยังมีโอกาสการลงทุนอีกมาก ซึ่งสามารถเข้ามาลงทุนได้ผ่านการสนับสนุนของไทย โดยเฉพาะการลงทุนใน Smart City ซึ่งขณะนี้มีการนำร่องพัฒนาใน 15 พื้นที่ทั่วประเทศ เช่น สามย่านสมาร์ทซิตี้ ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ เป็นต้น และการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งการพัฒนาพื้นที่ที่ต่อเนื่องจะช่วยดึงดูดนักธุรกิจจีนไทเปให้เข้ามาลงทุนได้อีกมาก
การบรรยายดังกล่าว ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายของการลงทุนในไทยและในอาเซียน ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีว่า ภาคเอกชนจีนไทเปได้ให้ความสนใจและแสวงหาลู่ทางเข้ามาลงทุนทั้งในไทยและอาเซียน ซึ่งย่อมเป็นโอกาสของผู้ประกอบการและภาคธุรกิจไทยในการเข้าไปร่วมมือ ขยายเครือข่ายพันธมิตร เพื่อการเติบโตทางธุรกิจต่อไป
ที่มา globthailand
วันที่ 11 เมษายน 2565