"ให้โดยเสน่หา" คืออะไร? ต้องเสียภาษีแบบไหน เสียภาษีเท่าไร และทำอย่างไรบ้าง

ทำความรู้จักการให้โดยเสน่หา สำหรับ "ผู้ให้" และ "ผู้รับ" ต้องทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ที่ดิน หรือ บ้าน ฯลฯ ต้องเสีย "ภาษีการรับให้" ทุกครั้งหรือไม่ มีข้อยกเว้นไหม และถ้าเสียภาษี ต้องเสียเท่าไร และทำอย่างไรบ้าง
 
หลายคนก็คงคุ้นเคยกับการได้รับเงินและการให้เงินกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่เพื่อนสุดที่รักอยู่แล้ว แต่ทราบหรือไม่ว่า "การให้โดยเสน่หา" เหล่านี้ ต้องเสียภาษีด้วย ซึ่งจัดเป็น “ภาษีการรับให้”
 
โดยผู้ให้และผู้รับอาจต้องเสียภาษีการรับให้นี้ หากการให้และการรับเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีข้อกำหนดและเงื่อนไขอยู่หลายประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณาควบคู่ด้วย
ดังนั้น ใครที่ให้และคนได้รับไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ที่ดิน บ้าน เป็นต้น ไปติดตามกันว่าจะต้องเสียภาษีการรับให้หรือไม่ เสียเท่าไร และต้องทำอย่างไรบ้าง
 
“ภาษีการรับให้” คืออะไร และใครที่ต้องเสีย :
 
ภาษีการรับให้ เป็นภาษีที่ถูกจัดเก็บในกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินโอนเงินหรือทรัพย์สินให้แก่บุคคลอื่น ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นภาษีที่จัดเก็บเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีมรดก โดยผู้ที่ต้องเสียภาษีการรับให้ ได้แก่
 
- บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส
 
- บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส
 
- บิดามารดาที่เป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม
 
โดย ผู้ให้และผู้รับจะต้องเสียภาษีในรูปแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะมูลค่าสินทรัพย์ที่ได้รับในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท และ 20 ล้านบาท ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สังหาริมทรัพย์ และ อสังหาริมทรัพย์ และจัดเก็บในอัตราคงที่ 5% หรือเลือกนำมารวมคำนวณภาษีในฐานะเงินได้อื่นๆ (เงินได้ประเภทที่ 8) ก็ได้เช่นกัน
 
ทั้งนี้ ยกเว้นการจัดเก็บภาษีการรับให้สำหรับเงินอัดฉีดที่มอบให้นักกีฬา สต๊าฟโค้ช ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ กล่าวคือ หากผู้รับเป็นนักกีฬา สต๊าฟโค้ช และเงินที่ได้รับเป็นเงินอัดฉีดเกิน 10 ล้านบาท จะได้รับยกเว้นภาษีให้เป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ต้องนำเงินอัดฉีดส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
 
ทรัพย์สินและผู้ให้ผู้รับแบบไหนต้องเสียภาษีการรับให้ :
 
(1)สังหาริมทรัพย์
 
(1.1) สังหาริมทรัพย์ทุกประเภทที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ เช่น เงินสด ทองคำ ทรัพย์สินต่างๆ ถูกกำหนดให้เสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่าส่วนที่เกิน แต่จะต้องพิจารณาด้วยว่า ผู้ให้และผู้รับเป็นใคร
 
โดยคำนวณภาษีในอัตรา 5% จากส่วนที่เกินของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับจากบุพการี (พ่อ แม่ ปู่ย่าตายาย ทวด และสูงขึ้นไป) หรือผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน โหลน ลื้อ และต่ำลงมา) หรือคู่สมรสตามกฎหมาย หรือบุคคลอื่นให้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
 
1) มูลค่าทรัพย์สินส่วนเกิน 20 ล้านบาท สำหรับผู้ที่ได้รับจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะต้องเสียภาษีในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี
 
2) มูลค่าทรัพย์สินส่วนเกิน 10 ล้านบาท สำหรับผู้ที่ได้รับจากบุคคลอื่น นอกเหนือจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะต้องเสียภาษีในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี
 
(1.2)เงินได้ที่ได้รับยกเว้น ได้แก่
 
1) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น
2) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น
3) เงินได้ที่ได้รับซึ่งผู้ให้แสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
(2)อสังหาริมทรัพย์
 
(2.1) อสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท เช่น บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ที่ดิน กำหนดให้เสียในอัตรา 5% ของมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท โดยบิดามารดาที่เป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่รวมบุตรบุญธรรม จะต้องเป็นผู้เสียภาษีการรับให้นี้
 
(2.2) เงินได้ที่ได้รับยกเว้น หากบิดาหรือมารดาโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษี จะได้รับการยกเว้น
 
ดังนั้น ถ้าหากบุตรได้รับอสังหาริมทรัพย์จากบิดาหรือมารดาเกินกว่า 20 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่าส่วนที่เกิน
 
(2.3) การหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับกรณีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในคราวเดียวกัน ที่มีมูลค่าเกินกว่า 20 ล้านบาท ให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท
 
การยื่นภาษีการรับให้ :
 
ทรัพย์สินที่มีการรับให้ดังที่กล่าวมาแล้ว จัดเป็นเงินได้อื่นๆ (เงินได้ประเภทที่ 8) ดังนั้น ผู้รับมีหน้าที่ต้องเสียภาษี สามารถยื่นแบบฯ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ได้ด้วยตัวเอง ภายในกำหนดเวลา 31 มีนาคม หรือยื่นออนไลน์ได้ถึง 8 เมษายน ของทุกปี
 
โดยสามารถเลือกเสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกินตามกฎหมายกำหนด หรือจะเลือกนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นๆ ก็ได้
 
สรุป :
 
สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับภาษีการรับให้ คือเรื่องของคนให้และจำนวนเงินที่ผู้รับได้รับในแต่ละปีภาษี ดังนั้น ใครที่ได้รับสังหาริมทรัพย์ เช่น เงินสด ทองคำ มูลค่าสินทรัพย์เกิน 10 ล้านบาท และ 20 ล้านบาท ตามเงื่อนไขที่กำหนด จำเป็นต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อน ถึงช่วงยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี โดยคำนวณให้ดีว่าจะยอมเสียภาษี 5% จากมูลค่าสินทรัพย์ส่วนที่เกิน หรือจะนำมารวมกับรายได้อื่นๆ แล้วเสียภาษีแบบอัตราภาษีก้าวหน้า แบบไหนจะประหยัดภาษีมากกว่ากัน
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 17 เมษายน 2565 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)