IMF เตือนเอเชียเจอภาวะ "ศก.ซบเซา-เงินเฟ้อ" จากสงครามยูเครน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า ประเทศในทวีปเอเชียต้องเผชิญกับผลกระทบจากสงครามยูเครนไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งทำให้ราคาสินค้าต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง เศรษฐกิจเอเชียซบเซา
แอนน์-มารี กูลด์-วูล์ฟ รักษาการผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียเผชิญกับอนาคตทางเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยจะมีการเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มสูงขึ้น
แนวโน้มของเศรษฐกิจเอเชียเป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ไอเอ็มเอฟได้เผยแพร่ออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยมีการปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียลงเหลือ 4.9% อันเป็นผลจากการชะลอตัวของเศษฐกิจจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องกับเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด
ไอเอ็มเอฟระบุว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.2% ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมกราคม อย่างไรก็ดี เอเชียยังถือเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตมากที่สุดในโลก และเป็นแหล่งสำคัญของการเติบโตทั่วโลก
อย่างไรก็ดี การรุกรานยูเครนของรัสเซียและการคว่ำบาตรมอสโกของชาติตะวันตกส่งผลให้ราคาอาหารและพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางของประเทศใหญ่ๆ กำลังจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อประเทศที่มีภาระหนี้สูง
การชะลอตัวที่มากกว่าที่คาดในจีนเนื่องจากการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ และการตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยาวนานเกิดกว่าที่คาด ทำให้ความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงมากขึ้น
“นี่เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับผู้กำหนดนโยบาย เพราะพวกเขากำลังพยายามที่จะจัดการกับแรงกดดันต่อการเติบโตและจัดการกับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น” ไอเอ็มเอฟระบุ
ความแตกต่างของแนวโน้มทางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วเอเชียแตกต่างกันไป ขึ้นกับการพึ่งพาพลังงานนำเข้าและการเชื่อมโยงกับจีนของประเทศต่างๆ โดยการเติบโตของประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ในออสเตรเลียมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
รัฐบาลของประเทศต่างๆ จำเป็นต้องตอบสนองอย่างแข็งขัน โดยเริ่มจากกำหนดเป้าหมายไปที่การให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่ยากจน ซึ่งได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อหนักหนาสาหัสที่สุด หลายประเทศต้องกระชับนโยบายทางการเงินเพื่อรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ ส่วนประเทศที่มีภารหนี้สูงก็ต้องลดค่าใช้จ่ายและหาทางปลดหนี้
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 26 เมษายน 2565