กกร. ห่วงเงินเฟ้อ-ของแพงซ้ำเติมศก.ไทย ขอรัฐคลอดคนละครึ่งเฟส5-ขยายเราเที่ยวด้วยกัน
ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมีนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานร่วมในการประชุม ประจำเดือนพฤษภาคม 2565 กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะด้านเงินเฟ้อและต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น แม้แนวโน้มการท่องเที่ยวจะดีขึ้นกว่าประมาณการเดิม ความเสี่ยงในระดับสูงทำให้ที่ประชุม กกร.คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.5% – 4.0% ในกรอบเดิม หากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในระดับที่เหมาะสม และคงประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะยังขยายตัวในกรอบ 3.0% – 5.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.5% – 5.5%
จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อ และสถานการณ์ความขัดแย้งจากยูเครน-รัสเซีย กกร.จึงขอเสนอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อช่วยประคับประคองภาคธุรกิจ รักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีและประชาชน ในช่วงไตรมาส 2 -3 ของปี 2565 ก่อนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เต็มที่มากขึ้นในช่วงปลายปี จากทั้งภาระค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตหรือการขนส่ง และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น
โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1)มาตรการดูแลต้นทุนการผลิตและสภาพคล่อง ผ่านการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ขยายเวลาการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ลดต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า อาทิ ลดภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ ,เพิ่มโควต้านนำเข้า เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ อาทิ เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ทันที และเร็วที่สุด มาตรการเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ
2๗การกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ อาทิ โครงการคนละครึ่งเฟส 5 ขยายจำนวนสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ รวมถึงธุรกิจสถานบันเทิง การลดภาระให้กับผู้ประกอบการ อาทิ ภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างไม่ควรคิดเบี้ย ปรับเงินเพิ่มสำหรับคนที่ชำระภาษีล่าช้า การเปิดประเทศโดยสมบูรณ์ การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ต่างชาติ การจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว และการดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม
“การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ภาครัฐควรคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถของภาคธุรกิจ ประสิทธิภาพแรงงาน ในแต่ละจังหวัดนั้นๆ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ทำให้การปรับอัตราค่าแรงที่สูงเกินขีดความสามารถของผู้ประกอบการจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการด้านต้นทุนการผลิตให้เพิ่มพุ่งสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าได้
กกร.จึงขอเสนอให้ใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด (คณะกรรมการไตรภาคี) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจในพื้นที่แต่ละจังหวัด รวมทั้งนำกลไกการปรับขึ้นค่าแรงในลักษณะตามทักษะการทำงาน Pay by Skill และมาตรฐานฝีมือแรงงานมาประกอบการพิจารณาในการปรับขึ้นค่าแรงงาน” นายเกรียงไกร กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 11 พฤษภาคม 2565