นักธุรกิจไทย-ซาอุอารเบียหลายร้อยร่วมเวทีสัมมนาด้านการลงทุน ท่านดอน ปรมัตถ์วินัย ชี้ปลดล็อกศักยภาพความร่วมมือเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ท่านดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างนำคณะผู้แทนภาครัฐ นักธุรกิจชั้นนำและภาคเอกชนไทยร้อยกว่าคน เดินทางเยือนซาอุอารเบียอย่างเป็นทางการในรอบ 32 ปี ได้เข้าร่วมในเวทีสัมมนาด้านการลงทุนระหว่างไทย-ซาอุฯ โดยมีเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และนายคาหลิด อับดุลอะซีซ อัลฟาลิฮ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน เข้าร่วม เช่นเดียวกับนักธุรกิจทั้งจากไทย และซาอุฯ กว่า 300 คน
มิสเตอร์คาหลิดกล่าวเปิดงานว่า การเดินทางเยือนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย เมื่อวันที่ 25-26 มกราคมปีนี้ และความตกลงที่มีร่วมกับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุฯ เป็นการเปิดศักราชใหม่ที่สำคัญของความเป็นพันธมิตรระหว่างสองประเทศที่เกิดขึ้น ในโอกาสเดียวกับการครบรอบ 65 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองราชอาณาจักร ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะกระชับและเพิ่มพูนความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันตามที่ผู้นำทั้งสองประเทศได้ตกลงกันไว้ ซึ่งนำไปสู่การจัดทำโรดแมปสำหรับความร่วมมือในอนาคตข้างหน้า การเดินทางเยือนของคณะผู้แทนระดับสูงของไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนระดับสูงในครั้งนี้ ได้ให้โอกาสในการดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่มีไว้ระหว่างกัน
“การจัดสัมมนาในวันนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องบันทึกไว้ในฐานะเวทีความร่วมมือที่ใหญ่ที่สุดของคณะผู้แทนภาคเอกชนและภาคธุรกิจไทยที่เคยเดินทางเยือนซาอุฯ ความเป็นพันธมิตรระหว่างซาอุฯ และไทยเป็นเรื่องที่มีอนาคต และยังเกิดขึ้นในขณะที่ซาอุฯ กำลังเดินหน้าผลักดันวิสัยทัศน์ 2030 ซึ่งถือเป็นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจที่ครอบคลุมที่สุด ขณะที่ไทยมีแผนการพัฒนาประเทศภายใต้โครงการไทยแลนด์ 4.0 เพื่อนำไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจีโมเดล) ซึ่งถือว่ามีความสอดคล้องกับแผนการพัฒนาของซาอุฯ เช่นกัน
มิสเตอร์คาหลิดกล่าวว่า โรดแมปความร่วมมือซาอุฯ-ไทย ได้สร้างโอกาสในการรื้อฟื้นและกระชับความสัมพันธ์ของเราภายใต้ความร่วมมือหลักที่มีการระบุไว้ในเอกสารดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการท่องเที่ยว พลังงาน การบริการด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม และภาคการผลิต นอกจากนี้ทุนมนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชนยังคงเป็นศูนย์กลางในความเป็นพันธมิตรระหว่างกัน พร้อมระบุถึงสาขาความร่วมมือหลักที่น่าสนใจประกอบด้วย การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมรถยนต์ พลังงาน และการให้บริการด้านการแพทย์
รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนของซาอุอารเบียกล่าวว่า บทบาทของภาคเอกชนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มพูนโอกาสทางด้านการลงทุนและการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ นอกเหนือจากการช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต การสัมมนาในวันนี้จะนำไปสู่โอกาสที่มากขึ้นสำหรับการหารือกันต่อไป การแสวงหาไอเดียที่เป็นรูปธรรม และความร่วมมือในก้าวต่อไป
“มีคำกล่าวของไทยที่บอกว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก แต่ที่ซาอุฯ โอกาสในการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ คือ น้ำท่วม เราขอส่งเสริมให้ทุกท่านคว้าโอกาสอันไม่เคยมีมาก่อนสำหรับบริษัทแล้วนักลงทุนไทยในซาอุฯ ขณะนี้ และรู้สึกยินดีที่เรากำลังทำเช่นนั้นอยู่” มิสเตอร์คาหลิดกล่าว
ท่านดอน ปรมัตถ์วินัย กล่าวว่า ประเด็นดีๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้นำไปสู่ความร่วมมือที่มากมายมหาศาลซึ่งจะชดเชยช่วงเวลาที่สูญเสียไป ทั้งยังเน้นย้ำให้เห็นถึงความร่วมมือของเราที่เกิดขึ้นภายใต้ความปรารถนาดีทั้งในระดับประชาชนและรัฐบาล ดังคำกล่าวที่ว่า หากคุณต้องการไปเร็ว ต้องไปเพียงลำพัง แต่หากคุณต้องการไปให้ไกล เราต้องก้าวไปพร้อมกัน และด้วยความร่วมมือระหว่างกันจะทำให้เราสามารถไปได้ไกลกว่าและดีกว่า ซึ่งนั่นจะทำให้เราสามารถพูดได้อย่างภาคภูมิใจในท้ายที่สุดว่า ถ้าเราทำสิ่งทั้งหมดนี้ได้ก็จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือและพัฒนาการด้านอื่นๆ ตามมา
มิสเตอร์อัจลัน บิน อับดุลอะซีซ อัล อัจลัน ประธานสภาหอการค้าซาอุฯ กล่าวแสดงความยินดีที่ได้ต้อนรับมิตรจากประเทศไทยที่เดินทางมายังซาอุฯ ในครั้งนี้ และว่าซาอุฯ กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่วิสัยทัศน์ 2030 ที่ทะเยอทะยาน อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจของซาอุอารเบียก็ยังคงเติบโต โดยจีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 9.6% ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่ายังมีโอกาสที่รออยู่มากมาย สำหรับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศ
ด้าน สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่งกับการต้อนรับอันอบอุ่นรวมถึงการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมในครั้งนี้ของฝ่ายซาอุฯ พร้อมแสดงความคาดหวังว่าในระหว่างการเยือนจะสามารถหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อกระชับและขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ รวมถึงค้นหาวิธีที่จะส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีกับภาคเอกชนของซาอุฯ
สนั่นกล่าวว่า จุดที่น่าสนใจที่ต้องนำมาพิจารณาคือแม้ว่าทั้งสองประเทศจะเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ในปี 2564 มูลค่ารวมของการค้าทวิภาคีแบบสองทางอยู่ที่ประมาณ 7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 อัตราเติบโตของการค้าทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 ซึ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่ทำให้ตระหนักว่า มีศักยภาพมากมายที่เราสามารถดำเนินการเพื่อเพิ่มพูนมูลค่าการค้านี้ให้สูงขึ้นอีกได้ เราตั้งตารอที่จะมีโอกาสมากขึ้นในการหารือและสำรวจหาวิธีการที่จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกัน เพื่อให้เราสามารถยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของเราให้ได้สูงสุดจนเต็มศักยภาพต่อไป
ท่านดอน ปรมัตถ์วินัย, เจ้าชายฟัยศ็อล และมิสเตอร์คาหลิด ยังได้เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ด้านความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสภาหอการค้าซาอุฯ พร้อมกันนี้ยังมีการลงนามเอ็มโอยูระหว่างกันอีก 5 ฉบับ ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องพลังงานและการท่องเที่ยว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 16 พฤษภาคม 2565