กลุ่มไฮโซกัมพูชา-เวียดนาม ฮิตเที่ยว ช้อปปิ้งโซนพัทยา-ระยอง
“ไลคอน” เจาะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวกัมพูชา-เวียดนาม ตามระเบียง CVTEC พบกลุ่มไฮเอนด์เติบโตสูง นิยมท่องเที่ยวแหล่งศิวิไลซ์-ทะเล โซนเมืองพัทยา-ระยอง หาข้อมูลท่องเที่ยวจากสื่อออนไลน์ บอกเล่าปากต่อปาก ใช้จ่ายในด้านการช้อปปิ้ง อาหาร ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยว-นักลงทุนจีนในกัมพูชาเข้าทางด่านมาถึงแค่จันทบุรี-ตราดเท่านั้น
ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลคอน จำกัด บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล เปิดเผยถึงพฤติกรรมนักเดินทางกัมพูชา เวียดนาม จีน บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลด้านใต้ ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม หรือ (CVTEC) ว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวบนตามระเบียงเศรษฐกิจ กัมพูชา เวียดนาม และไทย (Cambodia-Vietnam-Thailand Economic Corridor : CVTEC) ลดลงเหลือ 11 ล้านคน
ลดลงจากปี 2562 (ก่อนการระบาดของไวรัสโควิด) ที่มีสูงถึง 39 ล้านคน แบ่งเป็น คนไทย 24.7 ล้านคน กัมพูชา 4.4 ล้านคน และเวียดนามราว 9.9 ล้านคน
ทั้งนี้ จากการศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกัมพูชา จำแนกออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
(1)แบ่งเป็น กลุ่มตามตลาดการท่องเที่ยว
อาทิ นักท่องเที่ยวกลุ่ม high end เลือกเดินทางด้วยเครื่องบิน โดยอาจแวะเที่ยวกรุงเทพฯ ก่อนเดินทางต่อไปยังพัทยา ระยอง และพบว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตสูงขณะที่นักท่องเที่ยวตลาดกลาง อาจเดินทางไปกลับด้วยเครื่องบิน หรือเลือกเดินทางกลับด้วยเครื่องบิน โดยแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมจะได้แก่ พัทยา (ชลบุรี) และเกาะเสม็ด (ระยอง) โดยอาจแวะชมโชว์ต่าง ๆ ในพัทยา เช่น ทิฟฟานี่ อัลคาซ่า เป็นต้น ส่วนนักท่องเที่ยวตลาดล่าง อาจใช้พาหนะทางบก ใช้จุดผ่านแดนในจังหวัดจันทบุรีและตราด กิจกรรมยอดนิยมคือ การเลือกซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า
และ
(2)แบ่งตามวัตถุประสงค์การเดินทาง
โดยพบว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวสุขภาพ อาจใช้การขับรถผ่านพรมแดน จังหวัดจันทบุรี-ตราด เพื่อมารักษาสุขภาพ จากนั้นอาจแวะท่องเที่ยวหรือช้อปปิ้งในบริเวณใกล้เคียง ขณะที่นักเดินทางไมซ์ที่มาประชุมสัมมนา มักจะเลือกที่ประชุมและที่พักที่พัทยา เนื่องจากมีห้องประชุมและโรงแรมหลากหลายขนาดให้เลือกมากกว่า และมีความพร้อมมากกว่าพื้นที่อื่นในบริเวณใกล้เคียง
ส่วนสื่อในการหาข้อมูลท่องเที่ยวของชาวกัมพูชาคือ การบอกเล่าแบบปากต่อปาก (47%) นิตยสาร (40%) โทรทัศน์ (26%) บริษัททัวร์ (16%) จึงอาจตีความได้ว่า กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์มีส่วนสำคัญในการประชาสัมพันธ์
ดร.อภิชัยกล่าวด้วยว่า สำหรับนักท่องเที่ยวชาวเวียดนามนั้นพบว่าเป็นกลุ่มที่นิยมเดินทางโดยสายการเครื่องบินประหยัดมาลงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเดินทางท่องเที่ยวต่อไปยังพัทยา ระยอง มากกว่าการเดินทางด้วยรถอย่างไรก็ตาม มีกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบคาราวานที่จะเดินทางด้วยรถเช่นกัน
ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวที่ชื่นชอบจะคล้ายกับนักท่องเที่ยวชาวกัมพูชาคือชอบแหล่งท่องเที่ยวที่มีความศิวิไลซ์ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ส่วนวิถีชีวิตไม่เป็นที่นิยมมากเท่ากับพัทยา และนิยมใช้จ่ายในด้านการช้อปปิ้ง รวมถึงอาหาร
“ชาวเวียดนามนิยมท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อนในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม และช่วงเทศกาลปีใหม่ ใช้เวลาในการเดินทางท่องเที่ยวประมาณ 4-5 วัน โดยส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัว จังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมที่ชาวเวียดนามนิยมมาเที่ยวในประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่” ดร.อภิชัยกล่าว
สื่อในการหาข้อมูลท่องเที่ยวของชาวเวียดนามคือ การบอกเล่าแบบปากต่อปาก (41%) ช่องทางออนไลน์ (35%) บริษัททัวร์ (34%) นิตยสาร (26%)
ขณะที่พฤติกรรมกนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจีนที่เดินมาทำงานในประเทศกัมพูชาจะนิยมเดินทางผ่านแดนมาทางด่านที่จังหวัดจันทบุรีและตราด เพื่อมาเลือกซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า ตลอดจนการมารักษาสุขภาพและตรวจสุขภาพ โดยส่วนมากนักเดินทางกลุ่มนี้จะมาเที่ยวและช้อปปิ้งแค่จันทบุรีและตราด มักจะไม่ได้ไปไกลถึงระยองและพัทยา
ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวนั้นนักท่องเที่ยวชาวจีนชื่นชอบกิจกรรมบันเทิง ทะเลและชายหาด รวมถึงอาหารทะเล เนื่องจากมีราคาที่ไม่แพง รวมไปถึงผลไม้ไทย ซึ่งพบว่ากลุ่มนี้นิยมทัวร์ชิมผลไม้ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด การใช้จ่ายส่วนใหญ่ใช้ในด้านอาหาร และช้อปปิ้ง
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวของประเทศจีน ได้แก่ ตรุษจีน (ช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์) วันแรงงาน (พฤษภาคม) วันชาติจีน (ตุลาคม) และช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวกับคู่รัก ครอบครัว และกลุ่มเพื่อน พื้นที่ที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางมาในที่สุด (CVTEC) คือ พัทยา
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 20 พฤษภาคม 2565