เปิด 8 นโยบาย(ใน 214 นโยบาย)”ชัชชาติ”ผู้ว่ากทม.สัญญาว่าจะทำเมืองน่าอยู่

“ทำกรุงเทพฯให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” คือสิ่งที่"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าฯกทม.สัญญาว่าตอนหาเสี่ยงเลือกตั้ง ถ้าใครไม่มีเวลาอ่าน 214 นโยบายของผู้ว่ากทม.คนใหม่ ลองดูตัวอย่าง 8 นโยบายที่จะทำให้กทม.เปลี่ยนไป
 
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จัดเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ที่มีนโยบายหาเสียงเยอะที่สุด  214 นโยบาย ถ้ามีเวลาอ่านจะรู้ว่าละเอียดมาก เชื่อมโยงกันในหลายๆ เรื่อง หลายประเด็น ไม่ว่า ความปลอดภัย สุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ฯลฯ
“1 นโยบายไม่สามารถตอบโจทย์ทั้ง 6 ล้านคนในกรุงเทพฯ เราจึงต้องเอา 200 นโยบาย ขึ้นเว็บไซต์ให้ชัดเจนว่า เราทำอะไรบ้าง แล้วให้เขาเข้าไปดูว่า อะไรแตะกับชีวิตเขา” ชัชชาติกล่าวไว้ก่อนชนะเลือกตั้ง
 
 
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า จำนวนคนที่จะเข้าไปอ่าน 214  นโยบายคงมีน้อยมาก ล่าสุดเมื่อ เบอร์ 8 ชัชชาติ ชนะเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ จึงถือโอกาสเลือกนโยบายมานำเสนอ 8 ตัวอย่าง 
 
(1)ทุกป้ายรถเมล์สว่างไสว
นโยบายปลอดภัยดี : ป้ายรถเมล์มีข้อมูลและสว่างปลอดภัยทุกป้าย กรุงเทพฯ มีป้ายรถเมล์ประมาณ 5,000 ป้าย มีเพียง 600 ป้ายเท่านั้นที่มีการพัฒนารูปแบบป้ายให้มีข้อมูลของรถเมล์ที่ผ่านป้ายนั้นๆ ส่วนป้ายที่เหลือเป็นเพียงเสาเหล็กดัดโค้ง และมีแผ่นเหล็กครึ่งวงกลมสีน้ำเงินที่ระบุว่า ที่หยุดรถโดยสารประจำทาง หมวด 1 พร้อมสัญลักษณ์รถเมล์
 
ป้ายรถเมล์หลายป้ายขาดแสงส่องสว่าง ไม่มีการติดตั้งหลอดไฟ และหลายจุดตั้งอยู่ในจุดที่ค่อนข้างมืด 
ดังนั้น กทม.จะปรับปรุงป้ายรถเมล์ทั่วกรุง และให้ข้อมูลสายรถเมล์ที่ผ่านป้ายนั้น ,ข้อมูลเส้นทางเดินรถแต่ละสาย,ติดตั้ง CCTV เพื่อดูแลความปลอดภัย และออกแบบป้ายรถเมล์ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย ฯลฯ 
 
(2)Co-working Space ฟรีที่ห้องสมุดกทม.
นโยบายสร้างสรรค์ดี : เพิ่มฟังก์ชั่นให้ห้องสมุดเป็น Co-working Space ปัจจุบัน กทม.มีพื้นที่ห้องสมุด 36 แห่งใน 27 เขต แต่ห้องสมุด กทม.ยังมีข้อจำกัดในหลายมิติ เช่น การบริการอินเทอร์เน็ต (บางห้องสมุดต้องสมัครสมาชิกก่อนถึงจะใช้ได้) ปลั๊กไฟไม่มีทุกโต๊ะทำงาน ไม่มีการแยกโซนใช้เสียงกับโซนเงียบ อีกทั้งยังมีเวลาเปิดปิดไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน (ปิดวันจันทร์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลาให้บริการแตกต่างกัน) เป็นต้น ทำให้ห้องสมุดของ กทม.ยังไม่เหมาะสมต่อการทำงาน ดังนั้น กทม.จะเพิ่มฟังก์ชั่นห้องสมุดให้เป็น Co-working Space มีบริการ Wi-Fi ฟรีและเสถียร ,บริการปลั๊กไฟเพียงพอ ปรับวันเวลาทำการให้สอดคล้องกับการใช้งานของประชาชน ฯลฯ
 
(3)วันอาทิตย์ไปช่วยกันปลูกต้นไม้
นโยบายสิ่งแวดล้อมดี : ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง
ปลูกต้นไม้เพิ่มให้ครบ 1 ล้านต้นโดยแบ่งการปลูกเป็น 400 ต้น / เขต / สัปดาห์ เพื่อให้ครบล้านต้นใน 4 ปี การดำเนินการแบ่งเป็น
3.1 ปลูกเพื่อลดฝุ่นและมลพิษ 
3.2 ปลูกให้เกิดร่มเงาในการใช้ชีวิต
3.3 ปลูกเพื่อส่งเสริมความหลากหลายของระบบนิเวศน์เมือง - กทม.
3.4 ปลูกให้ชุมชนมีรายได้ -กทม.สนับสนุนให้ชุมชนเกษตรกรรมในกรุงเทพฯ เพาะกล้าไม้ โดย กทม.เป็นผู้รับซื้อ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
3.5 ปลูกให้คนและต้นไม้โตไปพร้อม ๆ กัน - แจกกล้าให้กับนักเรียนและประชาชนที่สนใจปลูกคนละ 3 ต้น โดยจัดกิจกรรมร่วมกันปลูกต้นไม้ทุกวันอาทิตย์
 
(4)ผ้าอนามัยฟรีมีที่กทม.
นโยบายสุขภาพดี : นำร่องผ้าอนามัยฟรี
แต่ละเดือนผู้มีประจำเดือน มีค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัยราว 80-150 บาทต่อเดือน หรือใช้ผ้าอนามัยประมาณ 20 แผ่นต่อเดือน สำหรับคนที่ไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัย อาทิ ไม่สามารถซื้อได้ เข้าถึงได้แต่ไม่เพียงพอ รวมไปถึงการใช้งานอย่างไม่เหมาะสม เช่น เปลี่ยนผ้าอนามัยน้อยครั้ง หรือใช้วัสดุอื่นที่ไม่เหมาะสมแทน จึงอาจเสี่ยงติดเชื้อ และมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้มีประจำเดือนและครอบครัว ลดความเสี่ยงของปัญหาอื่น ๆ ที่อาจตามมา กทม. จะนำร่องจัดหาผ้าอนามัยให้กับนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกทม.
 
(5)ฝันที่เป็นจริงเก็บสายไฟลงใต้ดิน
นโยบายเดินทางดี : สายสื่อสารลงดินไม่ซ้ำซ้อน สะท้อนนต้นทุน ไม่กระทบประชาชนน กทม.จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดินที่ไม่ซ้ำซ้อนกับระบบเดิม และให้ผู้ประกอบการทำการรื้อถอนสายเก่าและสายที่ไม่ได้ใช้งานที่แขวนอยู่บนเสาไฟฟ้า พร้อมกับพัฒนาแนวทางการนำสายสื่อสารลงดินอย่างเป็นระบบ
 
(6)สถานีแบตเตอรีในกทม.
นโยบายสิ่งแวดล้อมดี :สนับสนุนให้เกิด ecosystem รถพลังงานไฟฟ้า กทม.จะสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมในการใช้รถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าให้มากขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญลำดับต้น ๆ คือ สถานีชาร์ตรถยนต์ และสถานีสลับแบตเตอรีมอเตอร์ไซค์ ด้วยวิธีการดังนี้
6.1 อนุญาตให้เอกชนติดตั้งสถานีชาร์จและสลับแบตเตอรีรถจักรยานยนต์ในพื้นที่หน่วยงาน กทม. เช่น สำนักงานเขต สวนสาธารณะ จอดแล้วจร ฯลฯ
6.2 ประสานงานกับเอกชนในการผลักดันให้เกิดสถานีชาร์จและสลับแบตเตอรีมากขึ้น
6.3 พิจารณาข้อบัญญัติควบคุมอาคารให้สถานที่ต่างๆ ต้องมีการติดตั้งสถานีชาร์จและสถานีสลับแบตเตอรี่เพื่อให้ประชาชนใช้บริการได้ ฯลฯ
 
(7)พัฒนาทางเท้ากทม.
นโยบายเดินทางดี : กทม.เดินได้ พัฒนาทางเดินเท้าคุณภาพ 1,000 กม. กทม.จะสร้างซ่อมทางเท้าให้มีคุณภาพและคงทน กำหนดแบบก่อสร้างมาตรฐานทางเท้าใหม่ พิจารณาแบบกระเบื้องให้เรียบไม่มีตัดขอบ  โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างที่กระทบต่อการเดินของประชาชนให้น้อยที่สุด 
 
(8)ระบบราชการกทม.บนออนไลน์
นโยบายบริหารจัดการดี : ย้ายระบบราชการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนขึ้นสู่ระบบอบอนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานเขต กทม.จะพัฒนาระบบราชการออนไลน์ในทุกบริการที่เกี่ยวข้องกับ กทม. เช่นการขออนุญาต การชำระค่าธรรมเนียม การชำระภาษี เพื่อให้กิจกรรมเหล่านี้สามารถดำเนินการจากที่บ้านได้ โดยปรับปรุงรูปแบบการรับข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบ machine readable เพื่อให้ กทม.สามารถนำไปดำเนินการต่อได้ (ไม่ใช่ข้อมูล PDF) นอกจากนี้จะเพิ่มการชำระค่าบริการและภาษีออนไลน์ เช่น ค่าบริการการจัดเก็บขยะ ฯลฯ
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 23 พฤษภาคม 2565    

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)