ปิดฉากการประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ผู้ว่าฯแบงก์ชาติร่วมถกวาระโลก
การประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ประจำปี 2022 ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ปิดฉากลงแล้ววานนี้ (26 พ.ค.) หลังบรรดาผู้นำโลกและผู้แทนภาคธุรกิจชั้นนำร่วมถกประเด็นร้อนที่เป็นวาระสำคัญของโลก ทั้งวิกฤตยูเครนจนถึงวิกฤตอาหารและวิกฤตสิ่งแวดล้อม
การประชุม WEF ที่ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปีนี้ มีขึ้นในวันที่ 22-26 พ.ค. เป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรก โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาต้องจัดการประชุมผ่านระบบออนไลน์เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้นำทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาสังคมกว่า 2,000 คน เข้าร่วมถก ประเด็นร้อน ที่เป็น วาระสำคัญระดับโลก
ผู้นำสะท้อนความกังวลเศรษฐกิจโลกไร้ความหวัง :
บรรดานักธุรกิจระดับแนวหน้าและผู้นำรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงาน มองภาพรวมแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ว่ายังคงมืดมน เนื่องจากมี “ปัจจัยเสี่ยง” มากมายที่ขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยกดดัน-ผลกระทบจากปัญหาสงครามในยูเครน และการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลจีน
นอกจากนี้ หลายประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่กำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อในระดับที่รุนแรงทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพยุโรป(อียู) ฉุดรั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และสั่นคลอนเสถียรภาพของตลาดการเงิน บีบให้ธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น
นายโรเบิร์ต ฮาเบค รองนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ให้ความเห็นในเวที WEF ว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเจอวิกฤติอย่างน้อย 4 วิกฤติพร้อมๆ กัน ได้แก่
* เงินเฟ้อพุ่ง
* พลังงานแพง
* อาหารขาดแคลน
* ภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้ เขาเห็นว่าการจะแก้ไขปัญหาได้ต้องทำควบคู่กันไป ไม่สามารถมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งก่อนปัญหาอื่น ๆ “ถ้าไม่สามารถปลดล็อกปัญหาวิกฤติเหล่านี้ได้ โลกจะได้รับผลกระทบจากภาวะถดถอยและสั่นคลอนเสถียรภาพอย่างรุนแรง” ฮาเบคกล่าว
ด้านนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เตือนว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกและภาวะเงินเฟ้อเป็นขั้วตรงข้ามกัน เพราะยิ่งเงินเฟ้อสูงขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งกดดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง และอำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภคหดตัวมากขึ้น
ลาการ์ดยังให้คำมั่นที่ว่า ยุโรปจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.และก.ย. นี้ เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อ แม้ว่าต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจก็ตาม
IMF เตือนเศรษฐกิจโลกวุ่นหนักจากหลากปัจจัย :
นางคริสตินา จีออร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้ กำลังเข้าสู่ “ความยุ่งเหยิง” อย่างยิ่ง ผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 ตลอดจนความขัดแย้งในยูเครน รวมทั้งตลาดการเงินที่เปราะบางอย่างยิ่ง และปัญหาจากระบบห่วงโซ่อุปทาน ถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของโลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
“ขณะนี้มี 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว ที่ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ นับตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครน ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก” หัวเรือใหญ่ IMF กล่าว นอกจากนี้ ครัวเรือนทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาสินค้าราคาแพง ทั้งราคาอาหารและราคาพลังงานพุ่งขึ้นสูงมาก สถานการณ์เหล่านี้ สร้างความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะที่ยุ่งเหยิงอย่างที่สุด
ผู้ว่า ธปท.เผยแผนพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล CBDC :
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนจากไทยในเวที WEF กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของ สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) และแผนนโยบายผลักดันในอนาคตโดยในไตรมาส 4 ปี 2565 มีแผนนำร่องทดลองสกุลเงินดิจิทัลเพื่อทดสอบการใช้ในระดับประชาชน (Retail CBDC)ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งการทดสอบในครั้งนี้มีผู้ให้บริการทางการเงิน และสถาบันทางการเงินเข้ามาร่วมด้วย ถือเป็นการเตรียมตัวของธนาคารกลางเพื่อออก Retail CBDC รวมทั้งมีโอกาสที่จะเห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ง่ายกว่าระบบ Retail CBDC
สำหรับ CBDC นั้นไม่ได้ออกมาเพื่อตัดบทบาทของธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นหัวใจสำคัญทำให้ CBDC เติบโตขึ้น จากการร่วมมือกันระหว่างธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์หรือหน่วยงานเอกชน เช่น ธปท.เป็นผู้ออก CBDC และธนาคารพาณิชเป็นศูนย์กลางการขายให้นักลงทุนรายย่อย จากการสร้างนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาในระบบทางการเงินของปัจจุบันได้ ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์สำหรับอนาคต
การพัฒนาจากจุดเริ่มต้นที่สำคัญในปี 2561 เริ่มต้นจากการทดลองในโครงการ mBridge เป็นการสร้างช่องทางการชำระเงินข้ามพรมแดน ที่ร่วมมือกับธนาคารกลางฮ่องกงและได้เติบโตขึ้น รวมถึงธนาคารแห่งประเทศจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การทำธุรกรรมข้ามพรมแดนโดยใช้เทคโนโลยีการธนาคารแบบดั้งเดิมอาจใช้เวลาหลายวันกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ ในขณะที่ธุรกรรม CBDC นั้นเร็วกว่ามาก
ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าประเทศไทยไม่ได้ช้ากว่าประเทศอื่น ท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายประเทศยังรอดูความเสี่ยง ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศแรกที่เข้ามาศึกษา CBDC และเป็น 1 ใน 10 ประเทศแรกของโลกที่ทำ CBDC
“ฮุน เซน” ร่วมปาฐกถาในฐานะ “ประธานอาเซียน” :
สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เข้าร่วมการประชุม WEF ประจำปีนี้ ในฐานะประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ตามคำเชิญของนายเคลาส์ ชวับ ซึ่งเป็นประธานและผู้ก่อตั้งดับเบิลยูอีเอฟ โดยฮุน เซน ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Strategic Outlook on ASEAN” ในพิธีปิดการประชุม จากนั้น ได้กล่าวสุนทรพจน์ภายใต้หัวข้อ “Restoring Peace and Order” ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในงานเลี้ยงอาหารเที่ยง
ประเด็นร้อนสงครามรัสเซีย-ยูเครน :
การรุกรานยูเครนโดยกองทัพรัสเซียเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนแรงบนเวที WEF ประจำปีนี้ โดยนายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนได้เข้าร่วมงาน WEF ผ่านระบบประชุมทางไกลเรียกร้องให้นานาประเทศร่วมกันเพิ่มแรงกดดันรัสเซียด้วยการคว่ำบาตรทางด้านการเงินและพลังงานให้มากขึ้น เพราะตราบใดที่ยังมีการซื้อพลังงานจากรัสเซีย รัสเซียก็จะนำรายได้ดังกล่าวไปใช้ในการทำสงคราม
ขณะเดียวกัน นายจอร์จ โซรอส อภิมหาเศรษฐีเจ้าของฉายา “พ่อมดการเงิน” วัย 91 ปี ร่วมแสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า การที่รัสเซียรุกรานยูเครนอาจเป็นจุดเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 3 ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาอารยธรรมเสรีเอาไว้คือชาติตะวันตกต้องเอาชนะกองทัพของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินให้ได้ เขามองว่า สงครามยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ระหว่างสังคมเปิดกับสังคมปิดอย่างจีนและรัสเซีย
“การรุกรานนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 3 และอารยธรรมของเราอาจไม่รอด วิธีที่ดีที่สุดเผลอๆ อาจจะเป็นเพียงวิธีเดียวในการรักษาอารยธรรมของเรา ก็คือต้องกำราบปูตินให้ได้โดยเร็วที่สุด และนี่คือคำตอบสุดท้าย” นายโซรอสกล่าว และยังเสริมความเห็นด้วยว่า ขณะนี้ปูตินเชื่อแล้วว่าการรุกรานยูเครนเป็นความผิดพลาดและกำลังเตรียมการเจรจาหยุดยิง
สำหรับการจัดงาน WEF ในปีหน้า (2023) นั้น คณะกรรมการจัดงานระบุว่า จะกลับมาจัดในเดือน ม.ค.ตามปกติ (15-20 ม.ค.) หากไม่มีปัญหาใด ๆ ที่ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 27 พฤษภาคม 2565