วิกฤตอาหารโลก ดันครัวไทยผงาด เล็งออร์เดอร์ทะลักทั้งปี 1.2 ล้านล้าน

วิกฤตอาหารไฟลามทุ่ง กว่า 30 ประเทศระงับส่งออก สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่อลากยาว โลกแห่ตุนสินค้าเพิ่ม สภาอุตฯ จี้ผู้ประกอบการหาแหล่งวัตถุดิบใหม่แก้ขาดแคลน รับออเดอร์ทะลัก หอการค้าฯ โชว์ตัวเลข Q1 “ข้าว ไก่ กุ้ง น้ำตาล อาหารกระป๋อง” ส่งออกพุ่งยกแผง มั่นใจทั้งปี 1.2 ล้านล้าน
 
ผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อเข้าเดือนที่ 4 กระทบห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) โลก ทั้งวัตถุดิบอาหารคน วัตถุดิบอาหารสัตว์ พลังงานขาดแคลน และราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 2 ประเทศนี้เป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลกในกลุ่มสินค้าข้างต้น กระทบราคาสินค้า ค่าครองชีพ เงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นในรอบหลายสิบปี ส่งผลหลายประเทศประกาศระงับการส่งออกสินค้าเพื่อสงวนไว้เป็นหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)ออกมาระบุ เวลานี้มีกว่า 30 ประเทศทั่วโลกได้ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์แล้ว
 
 
ระงับส่งออก “ไฟลามทุ่ง” :
 
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้สินค้าในตลาดโลกทั้งพลังงานและไม่ใช่พลังงานขาดแคลน หลายประเทศได้ใช้นโยบายห้ามส่งออกสินค้า เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและเพื่อไม่ให้ราคาสินค้าในประทศสูงเกินไป การดำเนินนโยบายดังกล่าวเข้าลักษณะ “ไฟลามทุ่ง” จากประเทศหนึ่งไปประเทศหนึ่ง และจากสินค้าหนึ่งไปอีกสินค้าหนึ่ง เมื่อผลผลิตประเทศหนึ่งส่งออกไม่ได้ ทำให้ซัพพลายในตลาดโลกขาดแคลน มีผลให้ราคาสินค้าในตลาดโลกที่เป็นอาหารคนและอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น
 
“ธนาคารโลกคาดการณ์ปี 2565 ราคาสินค้าทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้น 37% (ณ 20 เม.ย.) สูงสุดในรอบ 60 ปี ส่วนหนึ่งจากสินค้าที่ขาดแคลนมาจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรต่อเนื่องอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ที่รัสเซียประกาศระงับการส่งออก ส่วนยูเครนส่งออกก็ไม่ได้จากท่าเรือใหญ่สุดคือ Odessa ถูกทำลาย และมีอีกนับสิบประเทศที่ประกาศระงับการส่งออกสินค้าเพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ”
 
 
จับตาระงับส่งออกเพิ่ม :
 
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่อยืดเยื้อไปตลอดทั้งปีนี้ และอาจลากยาวถึงปีหน้า ล่าสุดต้องจับตาฟินแลนด์และสวีเดนที่ประกาศสมัคร เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ ซึ่งรัสเซียได้ออกมาปรามว่าอาจทำให้สถานการณ์บานปลายได้ ยิ่งจะทำให้อีกหลายประเทศต้องเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นและอาจระงับการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น จากเดิมสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบโลกขาดแคลนพลังงานและราคาพุ่งสูงขึ้น และสิ่งที่ตามมาในตอนนี้คือการขาดแคลนอาหาร
 
ทั้งนี้จากรัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกวัตถุดิบอาหาร และปุ๋ย อันดับต้น ๆ สัดส่วนกว่า 20% ของโลกได้งดส่งออก ซึ่งจะกระทบผลผลิตด้านพืชพันธุ์ธัญญา หารต่างๆ ในฤดูการผลิตใหม่จะหายไป จากสงครามทำให้ยูเครนไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ตามปกติ ส่งผลให้อีกหลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกพืชพันธุ์ธัญญาหารระงับการส่งออกเพื่อเก็บไว้บริโภคในประเทศจากเกรงขาดแคลนในอนาคต ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้การขาดแคลนเริ่มหนักขึ้น
 
 
จี้เร่งหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ :
 
“อย่างไรก็ดีในวิกฤตอาหารของโลกนี้อุตสาหกรรมอาหารของไทยได้รับอานิสงส์ส่งออกได้เพิ่มขึ้นทั้งเนื้อไก่ อาหารกระป๋อง และอื่น ๆ แม้เวลานี้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและผู้ประกอบการจะสูงขึ้นมากจากวัตถุดิบอาหารสัตว์แพง ปุ๋ยแพง ทำให้ราคาสินค้าในประเทศและสินค้าส่งออกต้องปรับขึ้นราคา แต่ตรงนี้ไม่มีปัญหาเพราะขณะนี้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศมีมาก จากเกรงกระทบความมั่นคงด้านอาหาร ต้องซื้อไปตุน ไม่ว่าราคาแพงเท่าไรเขาก็ซื้อ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยกังวลในเวลานี้คือ การขาดแคลนวัตถุดิบ จากซัพพลายเชนสะดุด”
 
ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งดำเนินการคือ การจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระงับการส่งออก โดยต้องเจรจาและทำสัญญาซื้อขายระยะยาว รวมถึงการปรับสูตรการผลิต เช่น อาหารสัตว์โดยใช้วัตถุดิบในประเทศที่สามารถทดแทนกันได้ เพื่อให้มีสินค้าสำรองไว้ให้เกษตรกร ส่วนเรื่องราคาน้ำมันอยากฝากให้รัฐบาลพิจารณาต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตรไปอีกคราวละ 2 เดือน หากราคาน้ำมันยังไม่ปรับตัวลดลงเพื่อช่วยเหลือประชาชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกรในเรื่องต้นทุน เพราะหากรัฐบาลไม่ช่วยตรึงจะส่งผลต่อราคาสินค้า และเงินเฟ้อของประเทศปรับตัวสูงขึ้นอีกอย่างแน่นอน
 
“ครัวโลก”ออร์เดอร์ทะลัก :
 
สอดคล้องกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ที่กล่าวว่า แม้ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาสินค้า เงินเฟ้อ และค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก และเกิดวิกฤติขาดแคลนด้านอาหาร อีกด้านหนึ่งเป็นโอกาสของไทยที่มีปริมาณอาหารเพียงพอบริโภคในประเทศ จะสร้างรายได้จากการส่งออกอาหารเพิ่มในฐานะหนึ่งในแหล่งผลิตอาหารสำคัญของโลก หรือครัวโลก
 
โดยสินค้าอาหารสำเร็จรูป สินค้าข้าว เนื้อไก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาล และธัญพืช ที่หลายประเทศระงับการส่งออก และผลจากโรคระบาดในสัตว์ปีกไทยจะได้รับอานิสงส์ในสถานการณ์ครั้งนี้ เห็นได้ชัดจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยภาพรวมไตรมาสแรกปี 2565 สามารถทำรายได้ 324,415 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าไก่ ขยายตัว +20% ข้าว +31% น้ำตาลทราย +198% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป +16% กุ้ง +17% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป +23% เป็นต้น
 
ทั้งนี้แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยในอีก 3 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้ คาดจะมีมูลค่า 913,978 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.4% และยังคงคาดการณ์ส่งออกทั้งปีไว้ที่ 1.20 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.3% มีปัจจัยบวกจากประเทศคู่ค้าต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น เงินบาทอ่อนค่าช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ส่วนปัจจัยลบคือ เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก บั่นทอนกำลังซื้อผู้บริโภค รวมถึงความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยสหประชาชาติได้ลดคาดการณ์เติบโตเศรษฐกิจโลกปี 2565 ลงจาก 4% เป็น 3.1%
 
 
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากที่หลายประเทศประกาศระงับการส่งออกวัตถุดิบหลายตัวเพื่อไว้ใช้ในประเทศ ขอให้ผู้ประกอบการติด ตามข่าวสารและแนวโน้มของสินค้าแต่ละตัว เพราะเชื่อว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้นยาวนานพอสมควร ดังนั้นการกระจายความเสี่ยงหาแหล่งผลิตปัจจัยผลิตเพื่อรักษาซัพพลายในราคาที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็น ล่าสุดคณะภาครัฐและเอกชนจากหอการค้าฯได้เจรจากับรัฐบาลซาอุดีอาระเบียในการขอซื้อปุ๋ยเคมีเพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลน และสร้างความมั่นคงด้านแหล่งซัพพลายปุ๋ยให้กับเกษตรกร
 
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 27 พฤษภาคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)