WHO เตรียมพิจารณา "โรคฝีดาษลิง" เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขหรือไม่
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า WHO เตรียมพิจารณา "โรคฝีดาษลิง" เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขหรือไม่ โดยมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย.นี้
เจนีวา, 15 มิถุนายน 2565 สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เมื่อวันอังคาร (14 มิถุนายน) องค์การอนามัยโลกประกาศเตรียมจัดการประชุมในสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณาว่า การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในปัจจุบันซึ่งเกิดขึ้นนอกถิ่นระบาดดั้งเดิมในแอฟริกาได้กลายเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) หรือไม่
ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การฯ ระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงทั่วโลกเป็นเรื่องผิดปกติและน่ากังวลอย่างชัดเจน
ด้วยเหตุนี้ จึงตัดสินใจจัดการประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินขององค์การฯ ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulations) เพื่อพิจารณาถึงเรื่องดังกล่าว โดยมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย.นี้
ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เป็นการแจ้งเตือนทางสาธารณสุขระดับสูงสุดในปัจจุบันขององค์การฯ โดยก่อนหน้านี้องค์การฯ เคยประกาศให้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 532 ล้านราย และเสียชีวิตอีก 6.3 ล้านรายทั่วโลก เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เมื่อช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2020
องค์การฯ รายงานการตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงมากกว่า 1,600 ราย และผู้ป่วยต้องสงสัยเกือบ 1,500 ราย ใน 39 ประเทศ ซึ่งแบ่งเป็นประเทศที่รายงานพบผู้ป่วยโรคดังกล่าวมานานหลายปี 7 แห่ง และประเทศที่เพิ่งรายงานพบผู้ป่วยอีก 32 แห่ง โดยกลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่ถูกตรวจพบในภูมิภาคยุโรป
เจ้าหน้าที่องค์การฯ ระบุว่า ปัจจุบันมีการประสานงานกับประเทศสมาชิกและผู้ผลิตวัคซีนเกี่ยวกับการพัฒนากลไกเพื่อรับรองการเข้าถึงวัคซีนป้องกันอย่างเท่าเทียม ทว่ายังไม่แนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงขนานใหญ่ในช่วงเวลานี้
ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงถูกตรวจพบเป็นครั้งแรกในกลุ่มลิงทดลองเมื่อปี 1958 และอาจแพร่ระบาดจากสัตว์ป่าอย่างสัตว์จำพวกหนูสู่คน หรือจากคนสู่คนได้ โดยหลายประเทศในภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือรายงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงแบบกลุ่มก้อนในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งปกติแล้วจะไม่พบโรคดังกล่าวในภูมิภาคข้างต้น
องค์การฯ ระบุว่า โรคฝีดาษลิง ซึ่งถือเป็นโรคเฉพาะถิ่น มักแพร่ระบาดในภูมิภาคแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก โดยการตรวจพบผู้ป่วยยืนยันผลและผู้ป่วยต้องสงสัยที่ไม่มีประวัติเดินทางไปยังถิ่นระบาดในหลายประเทศนั้นถือเป็นเรื่องผิดปกติ
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 15 มิถุนายน 2565