จุรินทร์ จับมือ หอการค้าไทย เจรจานำเข้าปุ๋ยจากซาอุฯ เป้าหมาย 8 แสนตัน
วันที่ 24 มิถุนายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียในโอกาสที่คณะนักธุรกิจซาอุดีอาระเบียเดินทางเยือนไทย รวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
กระทรวงการต่างประเทศ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ ผู้แทนภาครัฐและเอกชน ว่า การหารือครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษในการนำเข้าปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบีย โดยเบื้องต้นจะนำเข้ามาประมาณ 8 แสนตัน ซึ่งจะช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยได้
โดยได้เชิญภาคเอกชนมาประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเตรียมการนำเข้าปุ๋ยอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากนายกรัฐมนตรีนำคณะภาครัฐและเอกชนเปิดสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย มีความคืบหน้าทั้งการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนำคณะไปเยือนซาอุดีอาระเบีย จากนี้ไปจะเป็นกิจกรรมเชิงลึกด้านการค้าที่กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มเติมต่อไป
การนำเข้าปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบีย ปกติประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบียผ่านบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดคือ บริษัท SABIC (Saudi Basic Industries Corporation) ซึ่งมีผลผลิตปุ๋ยยูเรียปีละ 2.2 ล้านตันต่อปี และประเทศไทยเป็นลูกค้ารายสำคัญของบริษัท
ข่าวดีขณะนี้ทางการซาอุดีอาระเบียเปิดโอกาสให้บริษัทที่ผลิตปุ๋ยของซาอุฯ อีก 2 บริษัทสามารถเจรจาขายปุ๋ยให้กับประเทศไทยได้ จะมี 3 บริษัทใหญ่นอกจาก บริษัท SABIC จะมีบริษัท MA’ADEN (Saudi Arabian Mining Co.) และบริษัท ACO group ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ Alim Investment Co. Ltd. Saudi Arabia ซึ่งเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ลำดับต้นของซาอุดีอาระเบีย
“ประเทศไทยมีการรวบรวมตัวเลขผ่านสภาหอการค้าและสมาคมการค้าปุ๋ยไทยเบื้องต้นมีความประสงค์ซื้อปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบียรวม 8 แสนตัน เป็น ยูเรีย 5.9 แสนตัน ปุ๋ยฟอสเฟต 1.93 แสนตัน และปุ๋ยโพแทสเซียม 2.5 หมื่นตัน”
ทั้งนี้ จะมีการเจรจาซื้อ-ขายกัน ในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ กระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะจัด Business Matching จับคู่ธุรกิจให้มีการพบกันระหว่างผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ 3 รายของซาอุฯ กับผู้นำเข้าปุ๋ยของไทยทั้งหมดที่สนใจ ช่วยให้การเจรจาซื้อปุ๋ยจากซาอุฯเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ปัญหาทั้ง 2 ข้อ
1.ให้ประเทศไทยมีปริมาณปุ๋ยพอใช้สำหรับเกษตรกร มีหลักประกันมากขึ้นเพราะมีแหล่งนำเข้าพิเศษเพิ่มเติม และ 2.เรื่องของราคาให้เป็นหน้าที่ของเอกชนเจรจาหวังว่าจะได้ต้นทุนที่ต่ำลงเป็นกรณีพิเศษจากความสัมพันธ์ที่มีต่อกันต่อไป
“ที่สำคัญคือ การแจ้งต้นทุนการนำเข้าจากใบอินวอยซ์ จะชัดเจนต้องแจ้งตามความเป็นจริงมาที่กรมการค้าภายในและเป็นความลับ เพื่อมาระบุเป็นต้นทุนนำไปสู่การจำหน่ายให้กับเกษตรกรต่อไป สำหรับราคาที่ซื้อขายเท่าไหร่เป็นการจับคู่แต่ละกรณีเพราะเงื่อนไขไม่เหมือนกัน”
นอกจากนี้ ภาคเอกชนของซาอุดีอาระเบียจะเดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยมีหอการค้าไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อตอบรับกิจกรรมการค้าการลงทุนระหว่างกันในช่วง วันที่ 4-6 ก.ค. 65
สำหรับกระทรวงพาณิชย์จะจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจให้ระหว่างผู้นำเข้าของซาอุดีอาระเบียที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 100 ราย และผู้ส่งออกไทยร่วมกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 120 ราย ที่ห้างไอคอนสยาม เพื่อจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างกัน หวังว่าจะเพิ่มยอดตัวเลขการส่งออกของไทยไปซาอุฯมากขึ้น ซึ่งจะมีสินค้าที่มีความหลากหลายทั้ง สาขาโทรคมนาคม ไอที ท่องเที่ยว อัญมณี อาหาร เสื้อผ้า แฟชั่น สุขภาพความงาม และบริการโลจิสติกส์ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุด้วยว่า กระทรวงพาณิชย์ กำลังเดินหน้าเตรียมจัดกิจกรรมเจรจาการค้าสินค้าปุ๋ยกับ 3 บริษัทปุ๋ยยักษ์ใหญ่ของซาอุดิอาระเบีย เช่นบริษัท MA’ADEN (Saudi Arabian Mining Co.) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตแร่ธาตุรายใหญ่ของซาอุดิอาระเบีย บริษัท ACO group ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ Alim Investment Co. Ltd. Saudi Arabia ผู้ผลิตปิโตรเคมี และโพลิเมอร์รายใหญ่ของซาอุดิอาระเบีย และบริษัท SABIC (Saudi Basic Industries Corporation) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์
อาทิ ปิโตรเคมี โพลิเมอร์ ปุ๋ย และโลหะรายใหญ่ของโลก เพื่อหาแหล่งนำเข้าอื่นทดแทนแหล่งเดิมที่มีปัญหาจากผลกระทบของสงคราม ป้องกันปัญหาปุ๋ยขาดตลาด ซึ่งปัจจุบันได้ประสานไปยังรัฐบาลซาอุดีอาระเบียเพื่อพิจารณาแล้ว และได้รับคำยืนยันว่าซาอุดีอาระเบียยินดีที่จะส่งออกปุ๋ยมาตามจำนวนที่ประเทศไทยต้องการ
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์การส่งออกว่าจะขยายตัวได้ถึง 6.2% หรือประมาณ 54,691 ล้านบาท ทั้งนี้ปี 2564 การค้ารวมไทยซาอุดีอาระเบียมีมูลค่า 233,075 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบียมีมูลค่า 51,500 ล้านบาทและไทยนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย 181,524 ล้านบาท
สถานการณ์การค้าระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย :
การค้าระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-เมษายน 2565) ซาอุดีอาระเบียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 19 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ปัจจุบันไทยและซาอุดีอาระเบียมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 92,767 ล้านบาท ขยายตัว 52.93% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปซาอุดีอาระเบีย 19,651 ล้านบาท ขยายตัว 19.18% และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากซาอุดีอาระเบีย 73,116 ล้านบาท ขยายตัว 65.53% ซึ่งไทยเป็น ฝ่ายขาดดุลทางการค้า 53,465 ล้านบาท
สินค้าที่ไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย 5 อันดับแรก ได้แก่
1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
2) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้
3) ผลิตภัณฑ์ยาง
4) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
5) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย 5 อันดับแรก ได้แก่
1) น้ำมันดิบ
2) เคมีภัณฑ์
3) ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์
4) น้ำมันสำเร็จรูป
5) สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 24 มิถุนายน 2565