เมื่อไหร่? และเพราะอะไร? ดอลลาร์สหรัฐถึงจะอ่อนค่า

การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐติดต่อกันยาวนานถึง 12 เดือน ทำให้สกุลเงินต่างๆ อ่อนค่าทำลายสถิติกันไม่เว้นแต่ละวัน
 
นักลงทุนหลายท่านมีความสงสัยว่าการแข็งค่าต่อเนื่องนี้มีโอกาสกลับตัวเมื่อไหร่ และถ้าเกิดขึ้นเราควรปรับพอร์ตลงทุนอย่างไร
 
ผมจึงขอนำเสนอ 3 สถานการณ์ ที่สามารถทำให้ “ดอลลาร์กลับตัว” พร้อมกับมองหาธีมที่ต้องจับตาในแต่ละสถานการณ์มาแชร์ให้คิดไปพร้อมกัน
 
(1) เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวโดดเด่นกว่าสหรัฐ
 
เพราะจุดเด่นของดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมาคือ American Exceptionalism หรือความเป็น “เอกเทศของสหรัฐ”
 
บนทฤษฎีนี้ ดอลลาร์สามารถแข็งได้จากสองปัจจัย หนึ่งคือการมีเศรษฐกิจที่มักไม่ได้ผันผวนตามเศรษฐกิจโลกเนื่องจากภาคต่างประเทศ (นำเข้าส่งออก) คิดเป็นเพียงแค่ 10% ของ GDP แม้ทั่วโลกจะมีปัญหาก็มักไม่สามารถกดดันเศรษฐกิจสหรัฐให้ชะลอตัวลงได้ สองคือตลาดหุ้นที่ใหญ่และสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนสม่ำเสมอ ยิ่งตลาดสหรัฐแข็งแกร่งก็จะยิ่งดูดเงินลงทุนจากต่างชาติได้มาก
 
ส่วนในปีนี้ เราได้เห็นหุ้นสหรัฐปรับฐานไปแล้ว แค่ยังไม่เห็นเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลงแรงกว่าทั่วโลก ดังนั้น ถ้าเป็นตามที่ตลาดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย 3-12 เดือนต่อจากนี้ American Exceptionalism ก็ไม่ควรเกิด และดอลลาร์ก็อาจกลับตัวอ่อนค่าลงในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ถึงไตรมาส 1 ปีหน้า
 
ธีมลงทุนที่คาดว่าจะทำผลตอบแทนได้เหนือตลาดในสถานการณ์นี้ มักเป็นกลุ่มที่ได้แรงหนุนจากกำลังซื้อทั่วโลกฟื้นตัว เช่นหุ้นยุโรป Cyclical การเงิน EV หรือ Small-cap
 
(2) ตลาดรับรู้การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐไปหมดแล้ว
 
เพราะนโยบายการเงินที่แตกต่างกันระหว่างสหรัฐกับทั่วโลกคือเหตุผลสำคัญที่หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าในปี 2022
 
การแข็งค่าจากดอกเบี้ยเกิดได้จากเทคนิคการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนสองแบบ
 
หนึ่งคือ Carry Trade ที่กู้สกุลเงินดอกเบี้ยต่ำ (เช่น ยูโรและเยน) ไปฝากในสกุลเงินดอกเบี้ยสูง (ดอลลาร์) บนความต่างของดอกเบี้ยนโยบายกลุ่ม G3 ปัจจุบันที่เกือบ 2% เป็นไปได้สูงที่จะเห็นเงินทุนย้ายไปลงทุนในดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง
 
สองคือ Monetary Policy Trajectory หรือทิศทางนโยบายการเงิน ดูยีลด์ระยะหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี แล้วซื้อ (ขาย) สกุลเงินที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น (ลดลง) มากที่สุด ช่วงที่ดอกเบี้ยของเฟดยังไม่ถึงเป้าหมาย 3.5% แต่เงินเฟ้อในสหรัฐสูง จึงเป็นช่วงที่นโยบายการเงินจะหนุนดอลลาร์ได้มากที่สุด
 
ด้วยทฤษฎีนี้ ดอลลาร์จะกลับตัวก็ต่อเมื่อดอกเบี้ยสหรัฐนิ่ง ซึ่งประเมินจาก Forward Guidance ของเฟดล่าสุด คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการประชุม FOMC วันที่ 2-3 พฤศจิกายน เป็นต้นไป
 
การกลับตัวของดอลลาร์ในเหตุการณ์นี้ จะเกิดขึ้นได้เพราะเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล พร้อมที่จะเข้าสู่การเติบโตรอบใหม่ กลุ่มวัฏจักรเช่น อุตสาหกรรม Semiconductor หรือ High-Beta จึงมักทำผลตอบแทนได้ดี
 
(3) ดอลลาร์อ่อนเมื่อดอลลาร์แข็งเกินไป
 
เนื่องจากตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมี Technical indicators เข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก เมื่อปรับตัวขึ้นหรือลงไปถึงระดับหนึ่ง มักมีโอกาสกลับตัวแบบ Mean Reversion
 
ในการวัดว่าดอลลาร์แข็งหรืออ่อนเกินไปไหม เราสามารถใช้ดัชนี Broad Real Effective Exchange Rate (REER) ของ St. Louis Fed เป็นตัวเปรียบเทียบ
 
ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 127 จุด ถือเป็นระดับใกล้เคียงจุดสูงสุดตั้งแต่มีการเก็บสถิติมา และเคยเกิดขึ้นครั้งล่าสุดในช่วงเศรษฐกิจถดถอยปี 2001
 
มองจากความถูกแพงปัจจุบันมีความเป็นไปได้สูงที่เราอาจได้เห็นดอลลาร์กลับตัวตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้เลย ซึ่งการลงทุนแนว Emerging Markets Commodity พลังงาน ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐาน มักเป็นกลุ่มที่ทำผลงานได้โดดเด่นในการกลับตัวลักษณะนี้
 
โดยสรุป จะเห็นได้ว่าโอกาสที่ดอลลาร์จะอ่อนค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยน่าจะมีเหตุผลหลักมาจากมุมมองในตลาดและนโยบายการเงินที่กำลังเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักลงทุนต้องเรียนรู้คือการแข็งค่าหรืออ่อนค่าของดอลลาร์แทบทุกครั้ง มักเกิดจากเหตุการณ์แวดล้อมอื่นๆ โดยที่ดอลลาร์มักเป็นตัวแปรตาม ดังนั้นในการวิเคราะห์ตลาด แม้เราอาจใช้ทิศทางของดอลลาร์เป็นจุดเริ่มต้น แต่ท้ายที่สุด ต้องหาเหตุผลที่แท้จริงให้เจอ ถึงจะระบุได้ว่าการลงทุนธีมอะไรที่จะสามารถชนะตลาด
 
ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่าอัตราแลกเปลี่ยนมีคาแร็กเตอร์สำคัญที่ไม่เหมือนสินทรัพย์ทางการเงินอื่นคือ “การเมืองมักนำปัจจัยพื้นฐาน”
 
แม้เราจะประเมินมูลค่า ทิศทาง หรือจังหวะกลับตัวไว้แล้ว ก็ต้องไม่ลืมที่จะสำรวจมุมมองของผู้กำหนดนโยบายการเงินและภาครัฐของทุกสกุลเงินหลัก ว่าเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร ไปพร้อมกันด้วยเสมอนะครับ
 
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 24 กรกฏาคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)