"แผนลดคาร์บอน" ปรับรับโอกาส ก่อนเงื่อนไขกลายเป็นภาระ

ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ภัยพิบัติจะรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบทั่วโลกในส่วนประเทศไทยต้องมีการจัดการภาวะก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีส
 
กำหนดให้แต่ละประเทศต้องจัดทำ แจ้ง และจัดให้มีข้อเสนอการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด อย่างต่อเนื่อง ทุก ๆ 5 ปี กำหนดให้ประเทศจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของ ประเทศ (long-term low greenhouse gas emission development strategies) เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส หรือ 1.5 องศาเซลเซียส  ปัจจัยเหล่านี้กำลังเป็นแรงกดดันที่เกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนเปลงเพื่อลดโลกร้อน 
 
พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงงานนโยบายและวางแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กล่าวในงาน การประชุมรับฟังความคิดเห็นในระดับประเทศต่อผลการศึกษาการปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (LT-LEDS) และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ NDC ว่า  
 
นอกจากเงื่อนไขตามข้อตกลงระหว่างประเทศแล้วเงื่อนไขทางการค้าและการลงทุนจากนี้ กำลังจะเป็นอีกแรงกดดันต่อประเทศไทยที่จะต้องเปลี่ยนแปลง เช่น  ระเบียบ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นแรงกดดันให้ไทยต้องปรับตัวทางด้านอุตสาหกรรม ถ้าไม่ปรับตัวจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นถ้าประเทศไทยหรือประเทศอื่นไม่แก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกจะต้องเสียภาษีเพิ่ม ทำให้การส่งออกมูลค่า 6,000 ล้านบาทในกลุ่มโลหะ และซีเมนต์จะได้รับผลกระทบ 
 
 
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงการเปลี่ยนแปลงจากแรงกดดันเท่านั้นที่จะทำให้การลดโลกร้อนบรรลุเป้าหมาย การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดจากการส่งเสริมสนับสนุนก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญเช่นกัน โดยภาครัฐมีแผนเข้ามามีส่วนร่วนในการสนับสนุนเรื่องภาษีการปรับตัวในเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก   สำหรับธุรกิจที่มีแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 
 
“เราไม่ควรปล่อยให้แรงกดดันมาเป็นเงื่อนไขใหม่การพัฒนาประเทศหรือแม้แต่ธุรกิจการค้าแต่เราต้องรีบทำให้แรงกดดันเป็นโอกาสด้วยการปรับตัวเพื่อไปประโยชน์ก่อนที่จะต้องปรับเพราะถูกบังคับ(burden)”
 
ทั้งนี้ หากประเมินความพร้อมของภาคธุรกิจในปัจจุบันที่กำลังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่นั้น ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อแผนการขับเคลื่อนการเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพราะแนวทางเหล่านี้ ถือเป็นการลงทุนระยะยาวที่เป็นหลักการทั่วไปของการทำธุรกิจอยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนดังกล่าวต้องใช้ต้นทุนซึ่งธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ เอสเอ็มอี อาจไม่มีความพร้อม แม้ว่าเทคโนโลยีการรักษาสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่างๆ จะมีต้นทุนที่สูง แต่เมื่อระยะเวลานานขึ้นต้นทุนดังกล่าวมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น แผงโซลาร์เซลล์ และหากไทยมีจุดอ่อนที่ไม่มีเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นของตัวเอง แต่ก็สามารถใช้ช่องทางการความร่วมมือระหว่างประเทศและการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันได้ 
 
“ผมไม่คือว่าเอสเอ็มอีจะตกขบวนหรือไม่สามารถปรับต้วเพื่อเข้ากับเทรนด์โลกใหม่นี้ได้ เพราะธุรกิจขนาดใหญ่เข้าใจเเละขับเคลื่อนธุรกิจไปในทิศทางการลดโลกร้อนหมดแล้ว มีการลงทุนเพื่อพลังงานสะอาดมูลค่ามหาศาล ดังนั้น เมื่อธุรกิจขนาดใหญ่เคลื่อนตัวก็จะดึงรายเล็กเดินตามไปด้วยเพราะเป็นซัพพลายเชนเดียวกันที่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน”
 
สำหรับ ท่าทีของประเทศไทยต่อการตอบรับการแก้ปัญหาโลกร้อน ปรากฎชัดเจนเมื่อวันที่ 21 ก.ย 2559 สำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาฯ โดยกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่20 - 25 % จากกรณีปกติ (Business as Usual: BAU) ภายในปี พ.ศ.2573 ซึ่งดำเนินการในทุกสาขาตามโครงสร้างเศรษฐกิจ (Economy-wide) และต่อมาสผ. ได้จัดส่ง การมีส่วนร่วมที่ประเทศกําหนด (Nationally
Determined Contribution: NDC) ฉบับปรับปรุง (Updated NDC) ไปยัง UNFCCC เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 โดยยืนยัน ที่จะดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย NDC ฉบับที่ 1 ที่ 20 - 25 % และปรับปรุงรายละเอียด ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของความตกลงปารีส รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน เช่น การปรับตัว ต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริบทของประเทศไทย ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ความเป็นธรรมและความมุ่งมั่นในบริบทของประเทศ และความต้องการได้รับการสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถบรรลุตามเป้าหมาย NDC ของประเทศ ในปี พ.ศ.2564
ที่ผ่านมาไทยมีการเข้าร่วมการประชุม World Leader Summit เมื่อวันที่ พ.ย  2564 ในช่วงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) แสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่จะยกระดับ การแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง โดยประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลาง ทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในหรือก่อน ปี ค.ศ. 2064 หากได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถจาก ความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ที่เหมาะสม ประเทศไทยจะสามารถลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ NDC 40% ภายในปี ค.ศ. 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สุทธิเป็นศูนย์ ได้ในปี ค.ศ. 2050
 
เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้ประเทศไทย มีการเปลี่ยแปลงทางโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมว่าด้วยการปล่อยคาร์บอนต่ำ เนื่องจากการเกิดก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้นทั่วโลก ส่วนหนึ่งมาจากภาคอุตสาหกรรม  ดังนั้น การจับมือระหว่างประเทศในการร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างยังยืนเป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำงานร่วมกันในระดับระหว่างประเทศอย่างจริงจัง
 
สำหรับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้นั้น ประกอบด้วย 3 เสาสำคัญได้แก่ 1.ความจริงจังในระดับนโยบายลดการปล่อยก๊าซ  2. การทำให้ภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปสู่การลดการปล่อยก๊าซ เช่น การเปลี่ยนการใช้พลังงานสะอาด ยกตัวอย่างโครงการที่เชียงใหม่ ที่บ้านผีเสื้อ ที่นำเทคโนโลยีไฮโดรเจน มาเป็นพลังงานหลักการดำเนินงานของโครงการ  และ 3. การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ 
 
ทั้งนี้ หากภาคอุตสาหกรรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมหนัก อย่างเหล็กและปูนซีเมนต์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูง มากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ  หรือแม้แต่ในภาคการเกษตรก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหมือนกัน แต่ไม่สูงเท่าอุตสาหกรรมโลหะหนัก จึงจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ในธุรกิจเหล่านี้ มีช่องทางสำหรับการเดินหน้าลดก๊าซคาร์บอนให้ได้ เช่น การสร้างตลาดที่มีการแตกต่าง เพื่อให้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีทิศทางที่จะเติบโต ขณะเดียวกันการส่งเสริมสินค้าเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นต้นแบบสินค้าที่มีความยั่งยืนก็เป็นอีกแนวทางที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
 
“ขอชื่นชมว่าไทยในการส่งเสริมการพัฒนาที่มีทิศทางไปสู่ธุรกิจสีเขียว อย่างการใช้พลังงานสีเขียวที่บ้านผีเสื้อ จังหวัดเชียงใหม่ มีการใช้โซลาร์เซลล์ มีการใช้ไฮโดรเจนในการผลิตพลังงาน โดยเริ่มจากโครงการขนาดเล็กเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างยังยืน”
 
นอกจากนี้ ในโอกาสที่ได้หารือกับรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของไทย ก็ได้รับคำยืนยันถึงแผนพลังงานชาติ ที่มุ่งไปสู่ พลังงานสีเขียว ที่ทำให้ภาคธุรกิจและภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดทิศทางไปในแนวเดียวกัน จนคาดว่าจะทำให้การบรรลุเป้าหมายประสบความสำเร็จได้
 
“ภาคธุรกิจมีส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ตามเป้าหมาย เพราะเป็นกลุ่มที่ทมีองค์ความรู้ มีการปฎิบัติงานจริง ซึ่งการที่ภาครัฐมีทิศทางที่ชัดเจนก็เป็นการส่งสัญญาณไปถึงภาคธุรกิจให้ไปในทิศทางเดียวกันนั่นคือการทำให้เป้าหมายข้อตกลงปารีสประสบความสำเร็จนั่นเอง”
 
บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิริธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาคขนส่งมีส่วนสำคัญในการปล่อยคาร์บอนที่สูงมาก ดังนั้นการมุ่งลดคาร์บอนในส่วนนี้จะช่วยให้เป้าหมายสำเร็จได้ง่ายขึ้น แต่ในภาคขนส่งเองก็มีรายละเอียดที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น การเปลี่ยนจากรถยนต์พลังงานฟอสซิลมาเป็นระบบไฟฟ้า ก็ต้องไปพิจารณารายละเอียดให้กระจ่างว่า พลังงานไฟฟ้าที่นำมาใช้กับรถยนต์นั้น มาจากกระบวนการพลังที่เป็นพลังงานสะอาดหรือไม่ เพราะหากไม่เป็นไปอย่างที่ควรก็เท่ากับว่าการคำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนมีความคลาดเคลื่อนและไม่ตอบโจทย์ที่แท้จริง 
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 24 กรกฏาคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)