มิตรผล-โออาร์-ศรีไทย ต้นแบบทุนไทยโกอินเตอร์

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวน ความท้าทายจากเรื่องจีโอโพลิติกที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ต่อเนื่องด้วยปัญหาโควิด-19 ที่บานปลายมา 2 ปี แต่ความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจสามารถขับเคลื่อนองค์กรจนสามารถขยายฐานการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศไปได้กว้างไกล
 
ซึ่งในควันหลงในเวที “Thai Business in Global Arena ธุรกิจไทยไม่แพ้ใครในเวทีโลก” ที่จัดที่งาน “Inclusive Growth Days empowered by OR” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้สะท้อนภาพนี้ไว้อย่างชัดเจน
 
มิตรผลถอดบทเรียนลงทุนนอก :
 
นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้น้ำตาลกระจายไปในเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อาหาร เครื่องดื่ม หรือแม้การใช้ในครัวเรือน ส่งผลให้อุตสาหกรรมเติบโตและได้มุ่งแสวงหาแหล่งลงทุนใหม่ ๆ ในต่างประเทศ
 
 
ในส่วนของกลุ่มมิตรผลได้ขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ทำให้พบว่าสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงและเรียนรู้ที่จะไปลงทุน คือ กฎระเบียบและกฎหมายของประเทศนั้น ๆ อย่างเช่น ในออสเตรเลีย มีกฎหมายแรงงานที่มีความเข้มข้น โรงงาน 1 แห่งสามารถตั้งสหภาพแรงงานได้ถึง 3-4 สหภาพ ซึ่งจำเป็นจะต้องศึกษาอย่างรอบด้านเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืน เป็นต้น
 
“หลักสำคัญเราเก่งด้านไหนก็ไปลงทุนด้านนั้น ต้องเข้าใจจุดแข็งเพื่อการแข่งขันในตลาด พร้อมมองหาพาร์ตเนอร์ที่ดีในการลงทุนในแต่ละพื้นที่ด้วย การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้เพื่อให้รูปแบบเกษตรกรรมเปลี่ยนไปเป็นโมเดิร์นฟาร์ม และให้สอดคล้องกับชีวิตสามารถกดปุ่มเพียงครั้งเดียวแล้วทำได้ตามคำสั่งทั้งหมด”
 
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคและควบคุมไม่ได้ คือ สภาวะอากาศแล้ง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตอย่างมาก ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีผลผลิตเสียหายจากเหตุนี้ไปกว่า 60 ล้านตัน กว่า 70% ซึ่งรัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเพราะต้องใช้งบประมาณลงทุนบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอสูงถึง 1,000 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มมิตรผลมุ่งทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับเทรนด์ทั่วโลกที่ตื่นตัวเรื่องนี้ ซึ่งบริษัทได้สร้างคาร์บอนเครดิตมากนับล้านตัน มีความได้เปรียบในการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ เพราะปัจจุบันตลาดการซื้อขายคาร์บอนเปิดกว้างมากขึ้นจากในอดีตที่จะถูกกำหนดโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว
 
นอกจากเรื่องสภาวะอากาศแล้ว ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมเกษตรของไทยยังมีอุปสรรคด้านแรงงานโดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานวัยทำงาน สนใจงานเกษตรลดน้อยลง ทำให้เหลือแต่กลุ่มผู้สูงอายุ หากไทยยังไม่สามารถดูแลเรื่องนี้ได้จะเป็นความท้าทายสำคัญมากขึ้นในอนาคต
 
โออาร์หัวหอกพลังงาน :
 
นายรชา อุทัยจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ กล่าวว่า ปัจจุบันโออาร์แสวงหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศแล้ว 10 ประเทศ ทั้งกัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ พบว่าแต่ละประเทศมีพฤติกรรมการบริโภคที่ต่างกัน
 
 
ซึ่งภาคธุรกิจต้องเรียนรู้และปรับเปลี่ยนสินค้าและให้บริการสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด รวมไปถึงการกำหนดทำเลที่ตั้งในการจำหน่ายสินค้าแต่ละพื้นที่ว่าจะเปิดให้บริการในหรือนอกอาคาร สิ่งสำคัญจะต้องกล้าเปิดรับและปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์
 
“การดำเนินธุรกิจโออาร์ยึดหลักสำคัญจากนโยบายของบริษัทแม่ รวมไปถึงคำนึงว่าพื้นที่นั้นจะได้ประโยชน์อย่างไร แต่โออาร์พร้อมแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในการลงทุน และมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐาน คุณภาพ และการกำหนดราคาในแต่ละพื้นที่ลงทุน”
 
นายชัยวัฒน์ นันทิรุจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอกา โกลบอล จำกัด กล่าวว่า การจะออกไปลงทุนในต่างประเทศ การยอมรับถึงพฤติกรรมวัฒนธรรมนั้น ๆ เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ แต่รวมไปถึงในองค์กรและการสร้างนวัตกรรม อินโนเวชั่นก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องมี เพราะจะทำให้การบริหารจัดการได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น การไม่มีย่อมเป็นสิ่งลำบากและอาจไม่ยั่งยืน และเพื่อจะทำให้การแข่งขันได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับโอกาสใหม่ที่จะเข้ามา และพร้อมที่ปรับตัวในการแข่งขัน
 
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องเตรียมรับมือด้านการแข่งขัน การไปลงทุนคือกฎระเบียบที่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อการแข่งขันต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ด้วย บางประเทศเช่น อังกฤษ มีการกำหนดมาตรฐานของสินค้านั้นต้องสามารถรีไซเคิลได้ไม่ต่ำกว่า 30% หากไม่มีจะถูกอัตราภาษีเข้ามากำหนดที่จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งประกาศใช้ไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษา เรียนรู้ และทำความเข้าใจก่อนไปลงทุน
 
เวียดนาม โอกาส เอสเอ็มอี :
 
ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาชนะใส่อาหารเมลามีน ซุปเปอร์แวร์ กล่าวในหัวข้อ “Global Opportunities for Thai Businesses โอกาสการเติบโตของธุรกิจไทยในต่างแดน” ว่า สภาหอการค้าไทยส่งเสริมภาคเกษตรของไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า ลดความเหลื่อมล้ำให้แคบลง รวมไปถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีออกไปแสวงหาโอกาสการลงทุน การทำธุรกิจในต่างประเทศให้มากขึ้น
 
โดยเฉพาะประเทศเวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และตลาดซาอุดีอาระเบียก็เป็นหนึ่งในตลาดที่น่าสนใจ โดยภายหลังจากที่ไทยได้ฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุฯ ทำให้มีความต้องการธุรกิจบริการ แรงงานจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก
 
 
โดยยกตัวอย่างในส่วนของบริษัทศรีไทยฯ ซึ่งเป็นบริษัทรายเล็กได้เข้าไปลงทุนในเวียดนามเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ยอมรับว่าการดำเนินธุรกิจช่วง 15 ปีแรกขาดทุน แต่จากนั้นก็สามารถสร้างรายได้และมีกำไรเติบโตมากขึ้น นอกจากเวียดนามแล้วบริษัทยังได้เข้าไปลงทุนในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน อินโดนีเซีย อินเดีย ส่งผลให้ปัจจุบันสินค้าของศรีไทยฯสามารถส่งออกไป 100 ประเทศทั่วโลก
 
“สิ่งที่ทำให้ศรีไทยฯกล้าที่จะออกไปเพราะเห็นถึงโอกาสและรายได้ที่จะกลับมา แม้การไปครั้งแรกจะลำบาก แต่ผลตอบรับในระยะยาวทำให้ศรีไทยฯมีรายได้มากถึง 10,000 ล้านบาท”
 
ขณะนี้การขยายการลงทุนในเวียดนามยังเป็นโอกาสที่จะสร้างการเติบโตของรายได้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายอื่น ๆ เช่นกัน เพราะในปี 2565 คาดว่าจีดีพีเวียดนามจะขยายตัว 6-6.5% มีประชากรประมาณ 72 ล้านคน เป็นวัยทำงานถึง 70% กฎหมายเอื้อประโยชน์ในการเข้าไปลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมแบรนด์ไทยอย่างมาก
 
ที่สำคัญเวียดนามมีการทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) 15 ฉบับกับ 53 ประเทศ มีแรงงานเพียงพอ ค่าแรงยังถูก ทางสภาหอการค้าฯพร้อมส่งเสริมและให้คำแนะนำผู้ที่สนใจ
 
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 31 กรกฏาคม 2565   

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)