ปมขัดแย้งจีน-ไต้หวันยิ่งยาว ยิ่งป่วนวิกฤตชิปโลกขาดแคลน
นักวิชาการส่งเสียงเตือน ชี้ปมขัดแย้งจีนกับสหรัฐและไต้หวัน จะส่งผลต่อวิกฤตชิปขาดแคลนอย่างรุนแรง เนื่องจากไต้หวันเป็นฐานการผลิตชิปสำคัญของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50%
การเผชิญหน้าใน ช่องแคบไต้หวัน ระหว่าง จีน กับ สหรัฐอเมริกา และ ไต้หวัน ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลก แต่ยังมีนัยยะสำคัญในแง่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ตลาดเซมิคอนดัคเตอร์ (ชิป) ที่กำลังเผชิญภาวะชิปขาดแคลนอยู่แล้ว จะได้รับแรงกดดันอย่างรุนแรง
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าววานนี้ (7 ส.ค.) กรณีความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐและไต้หวันว่า จะส่งผลกระทบและพลิกผันธุรกิจอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) โลก
ทั้งนี้ เนื่องจาก บริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดัคเตอร์ แมนูแฟคเจอริง คอมปานี (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) หรือ TSMC ซึ่งเป็นบรัทสัญชาติไต้หวัน เป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก มีโรงหล่อเซมิคอนดักเตอร์อิสระที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน มีสัดส่วน 54% ในตลาดโลก มีโรงงานการผลิตส่วนหนึ่งอยู่ในจีน ดังนั้น หากความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันย่ำแย่ลงอีก คาดว่า จะมีการลงทุนบางส่วนย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียน
มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจล่าสุดของจีนที่เริ่มแบนสินค้าหลายอย่างจากไต้หวัน เช่น สินค้าประเภทอาหาร ผลไม้ และสินค้าจากการประมง แต่กลับไม่แตะต้องธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์เลย
ปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2563 อยู่แล้วจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ซ้ำด้วยการระบาดของโควิด-19 จนโรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลงจากการล็อกดาวน์ จนถึงตอนนี้แม้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่ฟื้นตัวเท่าไหร่นัก
รายงานของ TrendForce (บริษัทวิจัยการตลาดชั้นนำของโลก) ที่เปิดเผยออกมาเมื่อปีที่แล้ว (2564) พบว่า บริษัทในไต้หวันถือครองส่วนแบ่งตลาดเซมิคอนดักเตอร์รวม 63% และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 66% ในปีนี้ โดยมี TSMC เป็นหัวหอก ถือครองส่วนแบ่ง 54% ของทั้งโลก ส่วนอันดับรองลงมาคือ เกาหลีใต้ที่ 18% โดย 17% มาจากซัมซุง (Samsung) หากปัญหาวิกฤตความสัมพันธ์บานปลายกลายเป็นภาวะสงครามในช่องแคบไต้หวัน ย่อมทำให้สินค้าไอทีมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่เซมิคอนดักเตอร์อาจหายไปค่อนหนึ่งของกำลังการผลิตทั่วโลก
นอกจากนี้ กลุ่มทุนข้ามชาติไต้หวันยังเข้าไปลงทุนในประเทศจีนจำนวนมาก และใช้ฐานการผลิตในจีนส่งออกไปทั่วโลก มีรายได้จากการส่งออกไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาทเท่ากับประมาณ 7.2 ล้านล้านบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไต้หวันนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น 87% อัตราการขยายตัวการส่งออกไต้หวันเพิ่มขึ้นมากกว่า 70% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ด้าน บริษัทฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) สัญชาติไต้หวัน ผู้ผลิตชิ้นส่วนมือถือและอุปกรณ์สื่อสาร ก็เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ให้บริษัทแอปเปิล (APPLE) มีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในจีน ด้วยผลประโยชน์ผูกพันทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างจีนและไต้หวัน คาดได้ว่าทั้งสองฝ่ายจะหลีกเลี่ยงสงครามและการปะทะกันทางการทหาร เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง กลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มทุนต่างๆ ย่อมกดดันให้รัฐบาลลดระดับความขัดแย้งลงมา
ข้อมูลล่าสุดพบว่า ชาวจีนไต้หวันอาศัยอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ประมาณ 160,000 คนแต่มีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ ไต้หวันยังมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่อกลุ่มประเทศอาเซียนในระดับสูง โดยไต้หวันมีมูลค่าการส่งออกมายังอาเซียนประมาณ 70,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ตลาดจีนและฮ่องกงคิดเป็น 42% ของมูลค่าส่งออกของไต้หวันเมื่อปีที่ผ่านมา (2564) การที่จีนประกาศห้ามนำเข้าสินค้าบางรายการจากไต้หวัน โดยเฉพาะกลุ่มอาหารย่อมส่งผลต่อแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อไต้หวันไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.อนุสรณ์ มองว่า สถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างโอกาสในการส่งออกของไทยและกลุ่มอาเซียนเพื่อชดเชยสินค้าบางส่วนจากไต้หวัน ขณะเดียวกันไต้หวันนำเข้าสินค้าจากจีนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 22% สินค้านำเข้าเหล่านี้อาจเกิดอุปสรรคทางการค้าได้จากวิฤตทางการเมืองล่าสุด กลายเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยและกลุ่มอาเซียนในกลุ่มสินค้านำเข้าที่ทดแทนกันได้
ทั้งนี้ ในท้ายที่สุด จากมุมมองนักวิชาการเห็นว่า การสนับสนุนนโยบายจีนเดียวเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยที่มีอยู่ในขณะนี้ แต่ไทยก็ควรรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การศึกษาและวัฒนธรรมกับไต้หวันเอาไว้ด้วยในขณะเดียวกัน เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย โดย ควรหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ใดๆ ที่ละเมิดต่อหลักการจีนเดียว ซึ่งรัฐบาลไทยได้ยึดถือมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการละเมิดต่อหลักการดังกล่าวอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้
ท่าทีของไทยต่อนโยบายการรวมประเทศหรือผนวกรวมไต้หวัน (สาธารณรัฐไต้หวัน) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น ต้องเกิดจากกระบวนทางสันติภาพ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนจีนไต้หวัน การบูรณาการทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่ใช้เวลายาวนาน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางทหารและสงครามใหญ่ ซึ่งจะนำมาสู่ผลกระทบใหญ่หลวงต่อผู้คนในภูมิภาคและมนุษยชาติโดยรวม
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 8 สิงหาคม 2565