เปิดพิมพ์เขียว คมนาคมไทย ชิงศูนย์กลางอาเซียน

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นหนึ่งเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยภาครัฐ ที่ต้องมีการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล และเวลาในการก่อสร้างหรือติดตั้งระบบให้สมบูรณ์พร้อมใช้งานถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่แค่อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายคนหรือสิ่งของเท่านั้น ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ด้วย
 
ดังนั้น การตีกรอบแผนการดำเนินการด้านคมนาคม ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญ :
 
ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐ และภาคเอกชน จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อระดมสมอง และให้ข้อคิดเห็นในการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านคมนาคม พ.ศ.2566-2570 ซึ่งเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อระดมสมอง และให้ข้อคิดเห็นในการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านคมนาคม พ.ศ.2566-2570 งานจ้างที่ปรึกษาจัดทำแผนปฏิบัติการด้านคมนาคม พ.ศ.2566-2570 และแผนปฏิบัติราชการสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม พ.ศ.2566-2570 เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
 
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวในการเปิดประชุมว่า ในช่วง 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย และแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะที่ 1 (2563-2565) รัฐบาล และกระทรวงได้ผลักดันการพัฒนาระบบการคมนาคม และขนส่งทุกรูปแบบทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งในส่วนของการวางนโยบาย แผนงานการพัฒนา และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการ การปฏิบัติการและอำนวยความสะดวก รวมทั้งการควบคุม และการกำกับดูแล เพื่อเป้าหมายในการพัฒนา และขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เอเชีย และภูมิภาคต่างๆ ของโลกได้
 
แต่ด้วยบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ สภาพภูมิอากาศ ภาวะสงคราม สงครามการค้า ราคาน้ำมันที่ผันผวน การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปทั้งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร การขยายตัวของเมือง รวมทั้งการพัฒนาระบบเทคโนโลยี ดิจิทัล และนวัตกรรม ได้ส่งผลกระทบต่อระบบการคมนาคมขนส่งของประเทศ ภารกิจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของกระทรวงฯ เป็นอย่างมาก
 
ดังนั้น ในการจัดทำแผนปฏิบัติการนี้ จึงควรยึดกรอบของแผนระดับ 1 แผนระดับ 2 และยุทธศาสตร์การคมนาคมขนส่งของไทยในระดับ 20 ปี รวมถึงความสอดคล้องและสนับสนุนแผนระดับ 3 อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
ทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำการวิเคราะห์ภาพรวมทิศทางการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในระยะ 5 ปี (2566-2570) และระยะต่อเนื่อง ให้มีความสอดคล้องกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อปิดจุดอ่อนและเสริมสร้างจุดแข็งของการดำเนินงานที่ผ่านมาให้เป็นแผนปฏิบัติการที่บูรณาการและสามารถเชื่อมโยงกับแผนระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างสอดคล้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
โดยรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ได้ชี้แจงรายละเอียดโครงการ แผนการดำเนินงานและความก้าวหน้าของการศึกษาโครงการ รวมทั้ง ระดมสมองและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ส่วนราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มาใช้ประกอบการศึกษาโครงการต่างๆ
 
ซึ่งจะต้องกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม ประเด็นยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ ตัวชี้วัด และแผนงาน/โครงการ เพื่อใช้กำกับดูแล และติดตามการดำเนินงานของกระทรวงฯ ในทุกมิติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ให้สอดรับกับการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) และยุทธศาสตร์พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (2561-2580) และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทใหม่ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศไทยในช่วง 5 ปี จากนี้ต่อไป
 
ผลการศึกษาจะสรุปภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทำเป็นแผนปฏิบัติการเร่งด่วน หรือแอ๊กชั่นแผน ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 เพื่อให้แต่ละหน่วยงาน นำไปเป็นดัชนีจัดลำดับความสำคัญของโครงการออกมาเป็นแผนเร่งด่วน 5 ปีที่คมนาคมจะเดินหน้าต่อไปให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนพัฒนาของสภาพัฒนาฉบับที่ 13 ด้วย ซึ่งอาจจะมีทั้งการสานต่อโครงการเก่าที่ยังไม่สำเร็จใน 5 ปีที่ผ่านมา และโครงการใหม่ที่หน่วยงานอาจจะนำเสนอเข้ามาบรรจุไว้ในแผนเร่งด่วนนี้ นายอานนท์กล่าว
 
เมื่อพลิกดูแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมในปี 2565 มีวงเงินลงทุน 1.4 ล้านล้านบาท ครบถ้วนทุกมิติ บก ราง น้ำอากาศ เป็นโครงการเซ็นสัญญาไปแล้ว 516,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 974,000 ล้านบาท เมื่อทุกโครงการเดินตามแผนจะรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
 
จากข้อมูลของคมนาคมล่าสุด แต่ละโครงการมีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก ขณะที่หลายโครงการมีการลงทุนต่อเนื่อง และต้องใช้เวลาดำเนินการ ด้วยเป็นโครงการขนาดใหญ่และใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง
 
เมื่อเจาะลึกรายมิติ เริ่มจาก ทางราง การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นหัวใจการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและลดปัญหามลพิษ ตามแผนแม่บทมี 14 สี 27 เส้นทาง ระยะทาง 554 กม. เปิดให้บริการแล้ว 7 สี 11 เส้นทาง รวมระยะทาง 212 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 สี 4 เส้นทาง รวมระยะทาง 114 กม. ทยอยเปิดบริการปี 2566-2571 ได้แก่ สายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี และแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ล่าสุดกำลังเปิดประมูลก่อสร้างสายสีส้มช่วงตะวันตกและเดินรถตลอดสายจากช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี
 
ส่วนรถไฟทางคู่อยู่ระหว่างเร่งเฟสแรกให้แล้วเสร็จในปี 2566 ได้แก่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ, นครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ยังมี 2 สายใหม่เริ่มงานก่อสร้าง คือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม และเตรียมขออนุมัติ อีก 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กม. จะทำให้ประเทศไทยมีรถไฟทางคู่มากกว่า 3,200 กม.ทั่วประเทศ
 
ด้าน รถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน กำลังเร่งก่อสร้างช่วงกรุงเทพฯ- นครราชสีมา และเดินหน้าส่วนต่อขยาย ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เช่นเดียวกับไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง- สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ในปีนี้และเริ่มตอกเข็มปีหน้า
 
ทางถนน โครงการไฮไลต์มีมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี จะสร้างเสร็จในปี 2565 เปิดบริการในปี 2566
 
ทางน้ำ มีโครงการพัฒนาท่าเรือที่สำคัญ 2 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F จะเพิ่มขีดความสามารถท่าเรือแหลมฉบังจาก 11 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี จะแล้วเสร็จปี 2568 และ พัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 ปัจจุบันกำลังถมทะเล จะเพิ่มขีดความสามารถท่าเรือจาก 16 ล้านตันต่อปี เป็น 31 ล้านตันต่อปี จะเปิดบริการปี 2569
 
ทางอากาศ ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ สนามบินสุวรรณภูมิ ให้รองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี จะเปิดให้บริการในปี 2566 และกำลังเปิดหน้าดินก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา ทำให้รองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคนต่อปี เป็น 15.9 ล้านคนต่อปี ในปี 2567 ช่วยรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี
 
ไม่เพียงเท่านั้น คมนาคม ยังมีแผนจะพัฒนาโครงข่ายรองรับอนาคต ผ่านโครงการ MR-MAP เป็นการพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ คู่ขนานไปกับรถไฟทางคู่ 10 เส้นทาง เชื่อมแนวเหนือใต้ แนวตะวันออก-ตะวันตก และแนววงแหวน รวมถึงกำลังเร่งรัด โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง รองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทย และอันดามัน เพื่อลดความแออัดของช่องแคบมะละกา และจะเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน และผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญในอนาคต
 
ต้องติดตามประโยชน์สูงสุดของการลงทุน และความฝันประเทศไทยจะคว้าการเป็นศูนย์กลางคมนาคมด้านใดด้านหนึ่งได้แค่ไหน
 
เพราะวันนี้ทุกประเทศในอาเซียน ต่างก็ประกาศตัวเป็นศูนย์กลางทางคมนาคม ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะทางถนน ทางน้ำ ทางทะเล ทางราง หรือทางอากาศ
 
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 14 สิงหาคม 2565   

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)