โลกเบนเข็มสู่ "การเงินสีเขียว" ฐานทุนใหม่เป้าหมายNet Zero
การเงินสีเขียว เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโลกร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความพยายามในระดับโลกเพื่อลดคาร์บอนกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งภาคธุรกิจและการลงทุนมีส่วนอย่างมีนัยสำคัญ
ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเช่น ภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง และน้ำท่าม ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงทางการเงินต่อธุรกิจต่างๆเช่น ช่วงปี 2550-2552 ภัยพิบัตทางธรรมชาติจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าถึง 600 พันล้านดอลลาร์
รายงาน WORLD INVESTMENT REPORT2022 (WIR) : INTERNATIONAL TAX REFORMS AND SUSTAINABLE INVESTMENT จัดทำโดย การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) สาระสำคัญส่วนหนึ่งระบุว่า ในปี 2564 ผู้นำโลกได้ประชุมร่วมกันที่กลาสโกว์ สก็อตแลนด์ ในโอกาสการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยโลกร้อน หรือ COP 26
ซึ่งมีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ผลจากการประชุมครั้งนั้นได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวที่สำคัญได้แก่ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ออกหุ้นกู้ที่คำนึงถึงการการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Greenhouse Gas: GHG)แม้จะพบว่าในกลุ่มประเทศG20 ผู้นำทางเศรษฐกิจอย่างตลาดหุ้นแนสแด็กของสหรัฐ และ เซิ่นเจิ้น ของจีน จะมีการออกหุ้นในลักษณะนี้ค่อนข้างต่ำ แต่ในทางตรงกันข้ามพบว่า อินเดีย และอินโดนีเซีย มีการออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในสัดส่วนที่สูง
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวเพื่อเป้าหมาย ลดโลกร้อนคือ การขับเคลื่อนสู่ Net Zero ได้เกิดการแข่งขันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Zero หรือ “Race to Zero” เกิดขึ้น โดยพันธมิตรจาก 1,049 เมืองใหญ่ ,67 ท้องถิ่น ,5,235ธุรกิจ ,441 นักลงทุนขนาดใหญ่ และ 1,039 สถาบันการศึกษาชั้นนำ จาก 120ประเทศ ร่วมกันมุ่งสู่เป้าหมายนี้
“พันธมิตรที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังมุ่งไปยังเป้าหมายคาร์บอนศูนย์ ในปี 2050 ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรที่มีสัดส่วน 25% ของผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก และคิดเป็น 50% ของจีดีพีโลก”
ทั้งนี้ ความพยายามดังกล่าวรวมถึงการก่อตั้งพันธมิตรทางการเงินแห่งกลาสโกว์ Glasgow Financial Alliance for Net Zero (GFANZ) และยังมีกลุ่ม Net Zero Financial Service Providers Alliance (NZFSPA) ประกอบด้วยผู้ให้บริการทางการเงินที่จะรวมกลุ่มองค์กรทางการเงิน 23แห่ง รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ 6 แห่ง เป็นต้น
สำหรับหน่วยทางการเงินที่จะเข้ามามีบทบาทการผลักดันการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนศูนย์อีกหน่วยหนึ่งคือ กลุ่มเจ้าของเงินอย่างกองทุนบำเน็จบำนาญและกองทุนความมั่งคั่งเเห่งชาติต่างๆ ที่เริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมรวมไปถึงการกำหนดนโยบายเพื่อความมั่นคงด้านอาหารด้วย
โดยกลุ่มกองทุนต่างๆได้กำหนดกรอบการลงทุนไว้ 5 ด้าน ได้แก่ การจำกัดความเสี่ยงจากสภาพอากาศ การติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด การปรับทิศทางและยุทธศาตร์ การปรับรูปแบบการปฎิบัติการ และการกำหนดการโหวตและการบริหารงานที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมด้วย
“จากรายงานการลงทุนที่เผยแพร่สู่สาธารณะของธุรกิจต่างๆจะพบว่าส่วนใหญ่ส่งสัญญาณว่า สองในสามของรายงานให้ความสำคัญกับปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงแม้ว่าบางส่วนจะรวมไปกับรายงานประจำปีหรือแยกเป็นกลุ่มรายงานเพื่อความยั่งยืนเป็นการเฉพาะก็ตาม”
กลไกการขับเคลื่อนที่สำคัญอีกอย่างคือ กลยุทธ์การใช้ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งพบว่าเมื่อไตรมาสสุดท้ายปี 2564 และครึ่งปีแรกของปี 2565 มากกว่า มีหุ้นถึง20 ตัวในตลาดกำหนดแผนอบรมเพื่อการลดโลกร้อน
จากความพยายามภาคการเงินเพื่อให้เป้าหมายการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงประสบความสำเร็จ ซึ่งความพยายามนี้ไม่ใช่เพื่อลดโลกร้อนเท่านั้นแต่ยังเพื่อให้ธุรกิจได้รับโอกาสใหม่ๆ ซึ่งในรายงาน ประเมินไว้ว่าศักยภาพทางธุรกิจจากการแก้ไขClimate Change จะมีสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในอีกไม่กี่ปีจากนี้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 15 สิงหาคม 2565