ความกังวลจาก เศรษฐกิจถดถอย ยังคงอยู่ แต่เป็นลักษณะ "Mild Recession"

อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศยังอยู่สูง แต่เริ่มผ่านจุดสูงสุดหลังราคาพลังงานชะลอลง ตลาดแรงงานแข็งแกร่งช่วยลดความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงสั้น โดยราคาน้ำมันโลกที่ชะลอตัวลงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมในหลายประเทศส่งสัญญาณผ่านจุดสูงสุด เช่น อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ชะลอลงเป็น 8.5% ในเดือนกรกฎาคม จาก 9.1% ในเดือนมิถุนายน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการชะลอลงของราคาน้ำมันและค่าโดยสารเครื่องบิน
 
ขณะที่เงินเฟ้อในเยอรมนีเริ่มทรงตัว (7.5% กรกฎาคม) จากมาตรการลดค่าครองชีพ โดยอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงแต่ยังอยู่ในระดับสูงในสหรัฐฯ น่าจะส่งผลให้การขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังคงมีต่อเนื่อง แต่จะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น (Gradual and Data Dependent) โดย SCB CIO ยังคงมุมมองอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่ 3.25-3.5% และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 1.25% ณ สิ้นปี 2022 การขึ้นดอกเบี้ยที่ช้าลงของ Fed และการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอื่นๆ โดยเฉพาะ ECB น่าจะเริ่มส่งผลให้ US Dollar Index เริ่มชะลอลง ส่งผลให้ค่าเงินสกุลอื่นๆ รวมถึงเงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่า
 
เราคงมุมมองค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 33.5-34.5 บาท ณ สิ้นปี 2022 ในขณะที่ความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังคงมีอยู่ แต่ตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศส่วนใหญ่ยังสะท้อนว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยน่าจะเป็นลักษณะ Technical หรือ Mild Recession สะท้อนจากตัวเลขด้านแรงงานที่ยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเริ่มต้นก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในครั้งก่อนๆ
    
ในส่วนของผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ที่น่าจะเป็นตัวชี้วัดว่าบริษัทจดทะเบียนมีความสามารถในการจัดการและส่งผ่านต้นทุนทั้งด้านวัตถุดิบและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ข้อมูลล่าสุด (16 สิงหาคม 2022) ผลประกอบการในไตรมาส 2 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในหลาย Sector หลักเติบโตต่อเนื่องและดีกว่าคาด (S&P 500 +8.8%YoY) สะท้อนความสามารถบริษัทในการจัดการผลกระทบจากเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น และเศรษฐกิจชะลอตัว
 
ด้านผลประกอบการของยุโรปเติบโต 12% ขณะที่ผลประกอบการญี่ปุ่นหดตัว -28% จากกลุ่ม Financial, Health Care และ Cons. Disc. ผลประกอบการตลาดหุ้นในเอเชียไตรมาส 2 โดยส่วนใหญ่ขยายตัวดี ทั้งไทย (+27%YoY) จีน A-Shared (+16%) อินโดนีเซีย (+14%) และเวียดนาม (+3.1%) ขณะที่จีน H-Shared หดตัว -2.2%YoY (ซึ่งเป็นผลจากหุ้น Alibaba ที่ผลประกอบการลดลง ทั้งนี้ บริษัทใน H-Shared ออกรายงานผลประกอบการอออกมาเพียง 13%)
 
อย่างไรก็ดี จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย เรายังเน้นให้ลงทุนในหุ้นกลุ่ม High Quality ที่มีความสามารถในการบริหารต้นทุนและรักษาอัตรากำไรได้
 
สำหรับกลยุทธ์การจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation Portfolio) ของ SCB CIO ล่าสุดได้มีการปรับคำแนะนำหุ้นสหรัฐฯ เป็นทยอยสะสมหุ้นกลุ่ม High Quality หลังแรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ ผ่านจุดสูงสุด ซึ่งจะทำให้ Fed เริ่มขึ้นดอกเบี้ยช้าลง Valuation ที่อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปีสะท้อนความสามารถในการจัดการปัจจัยต้นทุนที่สูงขึ้นได้ดี โดยเราเชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความเสี่ยงการถูกปรับลดผลประกอบการต่ำกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ
 
สำหรับกลุ่ม EM เรายังคงเน้นให้ลงทุนในกลุ่มประเทศที่มีแรงส่งจากประเด็นเปิดเมืองเปิดประเทศ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง โดยเรายังคงมุมมองที่เป็น Slightly Positive ต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีน A-Share หุ้นไทยและเวียดนาม รวมถึงตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่นอกจากจะได้อานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมืองเปิดประเทศ และ FDI แล้ว Valuation ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
 
สำหรับสินทรัพย์อื่นเรายังคงแนะนำทยอยสะสมพันธบัตร Investment Grade เพื่อสร้างกระแสรายได้ให้กับ Portfolio สัดส่วน 20-30% มีสินค้าโภคภัณฑ์ประมาณ 4-6% ของ Portfolio เพื่อเป็นการจัดการความเสี่ยงเงินเฟ้อ โดยเน้นที่น้ำมันซึ่งยังมีความตึงตัวของอุปทาน รวมถึงอุปสงค์น้ำมันโลกในช่วงครึ่งหลังของปียังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเปิดเมืองเปิดประเทศโดยเฉพาะในเอเชีย และยังแนะนำให้มีเงินสด 5-10% ของ Portfolio เพื่อกระสุนในการทยอยสะสมสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงที่ตลาดยังมีความกังวลเศรษฐกิจถดถอย สำหรับลูกค้า HNW และ UHNW การมี Alternative Assets เช่น Structure Note และ Private Asset สัดส่วน 5-10% ของ Portfolio จะช่วยสร้างกระแสรายได้และลดความผันผวนได้
 
ที่มา the standard
วันที่ 22 สิงหาคม 2565 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)