ไทย-เวียดนาม ก้าวแรกเจรจาระดับที่ปรึกษา ฝันดันราคาข้าวโลก
นับหนึ่ง ไทย-เวียดนาม เริ่มเจรจาดันราคาข้าว อลงกรณ์ เผยเวียดนามตกลงยกระดับราคาข้าวในตลาดโลก ชงรัฐมนตรีเกษตร "เฉลิมชัย-เล มิน ฮวาน" ตั้งกลไกขับเคลื่อนพร้อมขยายการค้าสินค้าเกษตร 2 ชาติ
วันที่ 29 สิงหาคม 2565 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตามที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย ว่า ในการเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จในการขยายความร่วมมือด้านการเกษตรและการค้าระหว่าง 2 ประเทศ
โดยเฉพาะผลการประชุมหารือความร่วมมือด้านข้าวกับนายเจิ่น แทงห์ นาม (H.E. Mr. Tran Thanh Nam) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทและคณะผู้บริหารระดับสูง ณ นครเกิ่นเทอ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เวียดนามยืนยันอย่างแข็งขันและมุ่งมั่นในการร่วมมือกับไทยยกระดับราคาข้าวในตลาดโลก
“การเจรจาครั้งนี้เป็นการเจรจารอบที่ 2 ต่อจากการประชุมหารือที่ฝ่ายไทยเสนอข้อริเริ่มให้มีความร่วมมือร่วมกันยกระดับราคาข้าวที่กรุงเทพเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง 2 ฝ่ายคือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และนายเล มิน ฮวาน (Mr. Le Minh Hoan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทได้ทราบ และเห็นด้วยในหลักการจนนำมาสู่การเจรจาล่าสุด
นับเป็นความสำเร็จและเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวอันดับที่ 2 และ 3 ของโลกตกลงร่วมมือกันเพื่อยกระดับราคาข้าวในตลาดโลก เป็นงานที่ยากและยังมีภารกิจที่ท้าทายรออยู่เบื้องหน้าจะสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ยังตอบไม่ได้ แต่วันนี้เราได้เริ่มเดินก้าวแรกร่วมกันแล้วในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านการเกษตร” นายอลงกรณ์กล่าว
นายอลงกรณ์กล่าวว่า เห็นตรงกันว่าราคาข้าวในตลาดโลกไม่เป็นธรรมกับประเทศผู้ผลิตและชาวนาของ 2 ประเทศมาเป็นเวลายาวนาน นำมาซึ่งหนี้สินและความยากจน จึงถึงเวลาที่ต้องต่อสู้เพื่อชาวนา ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือราคาข้าวในปัจจุบัน ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งราคาปุ๋ยและราคาน้ำมันจากผลกระทบของวิกฤตการณ์โควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน
หากปล่อยสถานการณ์ราคาข้าวเป็นอยู่เช่นนี้ ชาวนาจะอยู่ไม่ได้เพราะขาดทุนหันไปทำเกษตรอื่นที่มีรายได้มากกว่า จะส่งผลให้ปริมาณการผลิตข้าวลดลงในระยะยาวกระทบต่ออุปทานข้าวของโลกสวนทางกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและปัญหาความมั่นคงด้านอาหารจะรุนแรงมากขึ้น
ทั้ง 2 ฝ่ายจะนำเสนอผลสรุปของการประชุมเสนอต่อรัฐมนตรีเกษตรของ 2 ประเทศ เพื่อตั้งกลไกขับเคลื่อนร่วมกันในรูปของคณะทำงานเฉพาะกิจ และให้แจ้งสมาคมชาวนา สมาคมผู้ค้าข้าว สถาบันอาหารและสมาคมผู้ส่งออกข้าวของไทยและเวียดนามได้ทราบถึงแนวทางความร่วมมือดังกล่าว รวมทั้งจะเจรจาความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อื่น ๆ ต่อไป
โดยระหว่างนี้จะกระชับความร่วมมือด้านข้าวระหว่างไทยกับเวียดนามในระดับองค์กรชาวนา และหน่วยงานด้านการเกษตรให้มากขึ้น ซึ่งนายฟาน จี๊ ทัญ เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทยม มีส่วนสำคัญต่อการประสานความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศในครั้งนี้ ตลอดจน ทั้ง 2 ฝ่ายยังเห็นตรงกันที่จะเพิ่มการค้าสินค้าเกษตรให้มากขึ้นและสมดุลมากขึ้น
จากสถิติการค้าในปี 2564 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทย กับเวียดนาม จำนวน 74,214 ล้านบาท โดยไทยนําเข้า 25,465 ล้านบาท และส่งออกไปเวียดนาม 48,750 ล้านบาท ฝ่ายไทยได้เปรียยดุลการค้า 23,285 ล้านบาท โดยเฉพาะการค้าข้าวระหว่าง 2 ประเทศยังสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเวียดนามนอกจากจะเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวแล้วยังนำเข้าข้าวปีละ 1.2 ล้านตัน และไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวไปเวียดนามเป็นอันดับที่ 4 สามารถเพิ่มการส่งออกข้าวไปสนับสนุนเวียดนามได้เพิ่มขึ้น นับเป็นตลาดที่ใกล้ตัวและคนเวียดนามนิยมข้าวไทยโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ
ในระหว่างการเยือนครั้งนี้ นายอลงกรณ์และคณะ ประกอบด้วย นายจักรกริช เรืองขจร รองกงสุลใหญ่นครโฮจิมินห์ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรเวียดนาม ยังได้เยี่ยมชมสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธ์ุข้าว แปลงข้าวและการใข้เครื่องจักรกลเกษตรเทคโนโลยีเกษตร โดยมีนายเจิ่น แทงค์ นาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เวียดนาม และ ดร.เจิ่น หงับ ถัดห์ ผอ.สถาบันวิจัยข้าวสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงนำชมอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ยังได้พบหารือกับชาวนา โรงสีข้าวและสหกรณ์การเกษตรที่หมีเว้ย (My Quoi agricultural cooperative) ที่จังหวัดเตี่ยน ซาง (Tiền Giang Province) รวมทั้งสำรวจตลาดข้าวในนครโฮจิมินห์อีกด้วย
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 29 สิงหาคม 2565