นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง "เงินเฟ้อ" ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด

อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกใกล้หลุดจากจุดสูงสุด (Peak) แล้ว ท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ราคาวัตถุดิบสำคัญ ตั้งแต่น้ำมัน ทองแดง และข้าวสาลี ลดลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นการลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ ท่ามกลางการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของห่วงโซ่อุปทานโลก
 
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนทำนายว่า อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศจะยังคงอยู่สูงกว่าระดับที่ธนาคารกลางพึงพอใจต่อไป และจะไม่มีวันกลับไปเท่าช่วงก่อนการระบาดใหญ่ได้ ท่ามกลางการชะลอตัวของกระแสโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศน่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อป้องกันปัญหาเงินเฟ้อติดลมบนนี้
 
โดยหลังจากอัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ก็มีสัญญาณการปรับตัวลดลงที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ในยุโรป อัตราเงินเฟ้ออาจจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป แม้ว่าสำหรับทั้งโลก นักวิเคราะห์ของ JPMorgan Chase & Co. คาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคจะลดลงเหลือ 5.1% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
 
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้หมายความว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะหวนกลับไปสู่ภาวะสงบ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกพอใจ ในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด และสงครามในยูเครน หรือนำไปสู่การสิ้นสุดของยุคนโยบายการเงินที่ตึงตัวในเร็วๆ นี้
 
เงินเฟ้อเย็นลง หลังราคาโภคภัณฑ์ลด เหตุอุปสงค์ชะลอตัว :
 
การลดลงของสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้น่าจะช่วยสนับสนุนการลดลงของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก โดยจะเห็นได้ว่าสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลงประมาณ 20% ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน เช่นเดียวกับราคาโลหะ ไม้แปรรูป และชิปหน่วยความจำ ซึ่งลดลงจากระดับสูงสุดแล้ว ขณะที่ดัชนีต้นทุนอาหารของสหประชาชาติ (UN) ก็ลดลงเกือบ 9% ในเดือนกรกฎาคม นับว่าลดหนักที่สุดตั้งแต่ปี 2008
 
Jan Hatzius หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sachs มองว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ลดลง โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแปลงกลับสู่ปกติแล้ว จากช่วงเกิดโรคระบาดซึ่งผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้ามากกว่าบริการ เช่น เลือกซื้อจักรยานออกกำลังกายมากกว่าไปฟิตเนส แต่ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มใช้เงินไปกับการบริการมากขึ้นแล้ว
 
ทีมนักเศรษฐศาสตร์ที่ Morgan Stanley ระบุว่า สัญญาณที่แน่นอนอย่างหนึ่งของอุปสงค์ที่ชะลอตัวก็คือการนำเข้าในกลุ่มเศรษฐกิจสำคัญๆ หลังจากปรับค่าเงินเฟ้อแล้วตอนนี้ชะลอตัว ขณะที่การส่งออกจากเอเชียซึ่งเป็นโรงงานของโลกก็เริ่มอ่อนตัวลง
 
ความตึงเครียดของห่วงโซ่อุปทานเริ่มผ่อนคลาย :
 
นอกจากนี้ ปัญหาด้านโลจิสติกส์ที่ผ่อนคลายลงก็มีส่วนทำให้ราคาสินค้าถูกลงเช่นกัน โดยจะเห็นว่าดัชนีแรงกดดันห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สาขานิวยอร์ก (New York Fed’s Global Supply Chain Pressure Index) ได้ลดลง 3 เดือนติดต่อกันสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2021 ขณะที่อัตราการขนส่งระยะสั้นก็กำลังลดลง เวลาขนส่งข้ามมหาสมุทรก็สั้นลง และบริษัทต่างๆ เริ่มกล่าวถึงปัญหาสินค้าคงค้างที่เพิ่มพูนแล้ว
 
Torsten Slok หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Apollo Global Management มองว่า ในกรณีแรงกดดันด้านอุปทานที่กำลังลดลง Fed อาจไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากอย่างที่หลายคนกังวล เพื่อชะลออุปสงค์และลดอัตราเงินเฟ้อ
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาสินค้าเริ่มชะลอตัว แต่ก็มีความเสี่ยงว่าการใช้จ่ายหลังยุคล็อกดาวน์จะผลักดันให้ราคาบริการสูงขึ้น เช่น ราคาตั๋วหนัง หรือราคาห้องพักในโรงแรม
 
ขณะที่หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sachs มองอีกว่า ค่าเช่าในสหรัฐฯ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง (Affordable Housing) นั้นอาจเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 2023 และปีต่อๆ ไป
 
Wage Price Spiral อาจทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่นานขึ้น :
 
ต้นทุนแรงงานถือเป็นค่าใช้จ่ายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมบริการ เนื่องจากตลาดงานในสหรัฐฯ และยุโรปยังคงตึงตัว บริษัทต่างๆ จึงถูกบังคับให้เพิ่มค่าจ้าง แต่เพื่อรักษาผลกำไร บริษัทต่างๆ จำต้องส่งต่อค่าแรงที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภค ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางคน รวมถึง Robert Dent นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสสหรัฐฯ จาก Nomura Securities กังวลเกี่ยวกับภาวะ Wage Price Spiral ซึ่งเป็นภาวะเงินเฟ้อสูงต่อเนื่อง จนทำให้คาดการณ์เงินเฟ้อของแรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้แรงงานไปต่อรองให้ค่าจ้างของตนสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดก็ย้อนกลับมากระทบค่าครองชีพอีกครั้ง โดย Dent ยังมองว่าภาวะ Wage Price Spiral อาจเกิดขึ้นแล้วในบางระดับ
 
เงินเฟ้ออาจไม่มีวันกลับไปต่ำเท่าช่วงก่อนโควิด :
 
นอกจากนี้ยังมีข้อโต้แย้งว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะไม่กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิดอีกแล้ว เพราะโลกพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงแล้ว ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่กำลังล่มสลาย ซึ่งเกิดเร็วขึ้นเนื่องจากสงครามในยูเครน และมาตรการในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจเพิ่มต้นทุนอีกขั้นอย่างน้อยก็ในระยะสั้น
 
โดย Dario Perkins นักเศรษฐศาสตร์จาก TS Lombard คาดการณ์ว่า ปัจจัยเหล่านี้กำลังสร้างสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘New Macro Supercycle’ พร้อมทั้งมองว่ายุคอัตราเงินเฟ้อต่ำได้สิ้นสุดลงแล้ว
 
“ธนาคารกลางพยายามจะป้องกันการเปลี่ยนแปลงนี้ แม้จะต้องเผชิญกับภาวะถดถอย พวกเขาไม่สามารถทนในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนี้ได้” Perkins กล่าว
 
ธนาคารกลางทั่วโลกเตรียมขึ้นดอกเบี้ย ป้องกันเงินเฟ้อติดลมบน :
 
ธนาคารกลางใหญ่ทั่วโลก ซึ่งล้วนคาดการณ์ผิดพลาดเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง เตรียมตัวขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเริ่มแตะระดับสูงสุดแล้ว โดย Fed ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกันยายน
 
โดยในการประชุม Jackson Hole เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (26 สิงหาคม) Jerome Powell ประธาน Fed เปิดประตูสำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ โดยกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ลดลงเมื่อเร็วๆ นี้ยังไกลจากสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายต้องการเห็น
 
ขณะที่ในวันต่อมา (27 สิงหาคม) Isabel Schnabel สมาชิกบอร์ดบริหารของ ECB ก็กล่าวว่า ธนาคารกลางจำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจัง
 
โดยค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทำให้นักการเมืองและธนาคารกลางต่างรู้สึกร้อนรน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปที่ราคาก๊าซธรรมชาติสูงกว่าปีที่แล้วถึง 7 เท่า และทำให้เกิดภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน
 
อัตราเงินเฟ้อในเขตยูโรโซนคาดว่าจะเร่งตัวเหนือระดับเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ 8.9% โดย Citigroup คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรอาจสูงเกิน 18% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการยกเลิกเพดานค่าไฟเมื่อเร็วๆ นี้
 
แต่ในทางตรงกันข้าม นักเศรษฐศาสตร์ของ J.P. Morgan กล่าวว่า สหรัฐฯ อาจจะประสบกับภาวะเงินเฟ้อลดลงเร็วสุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์
 
อย่างไรก็ตาม Anna Wong หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ จาก Bloomberg Economics มองว่า สิ่งนี้ไม่น่าจะหยุดยั้ง Fed จากการใช้นโยบายทางการเงินเข้มงวดได้ โดยในที่สุด Fed น่าจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 5% เพื่อขจัดปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ
 
แม้ว่าความเสี่ยงจากภาวะถดถอยจะเพิ่มขึ้น แต่นักลงทุนกำลังเดิมพันว่าภายในเดือนมีนาคมปีหน้า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นประมาณ 3.75% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของ ECB น่าจะสูงถึง 1.75% และสหราชอาณาจักรจะขึ้นเป็น 4%
 
โดย John Flahive หัวหน้าฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ของ BNY Mellon Wealth Management กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อเป็นปัญหาอย่างแท้จริง และยังคงอยู่เหนือเป้าหมายของธนาคารกลาง โดยพวกเขาไม่ต้องการทำผิดพลาดอีกครั้งด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยและเฝ้าดูอัตราเงินเฟ้อกลับสูงขึ้น
 
ที่มา the standard
วันที่ 30 สิงหาคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)