ธุรกิจบ่นอุบขึ้น "ค่าแรง" ทั่วไทย ซ้ำเติมต้นทุนแพง จ่อลดโอที ใช้โรบอต ปรับราคาสินค้าตาม

ธุรกิจบ่นอุบขึ้น ‘ค่าแรง’ ทั่วไทย ซ้ำเติมต้นทุนแพง จ่อลดโอที ใช้โรบอต ปรับราคาสินค้าตาม :
 
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 10% ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถือว่ายังน้อยกว่าที่คาด และอยู่ในวิสัยที่ยังพอรับได้ โดยค่าแรงคิดเป็น 30% ของต้นทุนก่อสร้างบ้าน ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงรอบนี้ทำให้ต้นทุนบ้านเพิ่มขึ้น 3% และมีแนวโน้มจะทำให้ราคาบ้านปรับขึ้นอีก 1-2% ในช่วงไตรมาส 4/2565 และไตรมาส 1/2566 เพิ่มขึ้นจากเมื่อครึ่งปีแรก ที่ปรับราคาบ้านไปแล้ว 5%
 
จี้เลือกตั้งใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจ :
 
“ด้านสถานการณ์การเมือง ควรจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ได้แล้ว เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายและเกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้มีผู้นำที่มีความรู้ ความสามารถด้านเศรษฐกิจมาบริหารประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจของเราที่ขยายตัวได้ช้า ให้เดินหน้าต่อได้ ไม่อย่างนั้นจะทำให้ขีดความสามารถของเรา แพ้ประเทศอื่นๆ ได้ เช่น เวียดนาม” นายอุทัยกล่าว
 
‘ริชี่’ ชี้กระทบทั้งทางตรงทางอ้อม :
 
นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ RICHY กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อต้นทุนก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ เป็นแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ต้นทุนสูงขึ้นอยู่แล้ว 5-10% ซึ่งผลกระทบทางตรงผู้ประกอบการต้องขึ้นค่าแรงตามที่รัฐประกาศ ส่วนทางอ้อมมาจากราคาวัสดุก่อสร้างที่จะปรับขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามค่าแรง และหนีไม่พ้นที่ผู้ประกอบการจะต้องมีการทยอยปรับขึ้นราคาบ้าน หมดยุคของถูก ซึ่งในส่วนของบริษัทต้องปรับขึ้นเป็นแบบขั้นบันได เพื่อไม่ให้เป็นการเพิมภาระลูกค้ามากเกินไป
 
แรงงานก่อสร้างยังขาดแคลน :
 
“ค่าแรงที่จ่ายอยู่ในขณะนี้แพงอยู่แล้ว เพราะแรงงานขาดแคลน ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม เพื่อให้มีแรงงานมาก่อสร้าง รวมถึงต้องอาศัยแรงงานต่างด้าว เพราะคนไทยไม่นิยมทำ ที่ส่งผลต่อต้นทุนก่อสร้างบ้านเพิ่มขึ้นช่วงที่ผ่านมา ตอนนี้นอกจากค่าแรงที่รัฐจะขึ้นแล้ว ยังมีราคาวัสดุก่อสร้าง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับขึ้นราคาบ้านให้สอดคล้องกับต้นทุนจริง” นางอาภากล่าว
 
‘ออริจิ้น’ หนักใจแรงงานขาด :
 
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI และนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นทั่วประะเทศ โดยรัฐบาลจะบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เป็นการปรับในอัตราที่ต่ำกว่าที่หลายคนกังวลก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ในภาพรวมดูแล้วแทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะส่วนใหญ่จะบริหารจัดการโดยใช้การก่อสร้างแบบสำเร็จรูปอยู่แล้ว และปัจจุบันมีการจ่ายค่าแรงให้กับแรงงานสูงกว่าอัตราขั้นต่ำอยู่แล้ว เป็นผลจากการที่แรงงานก่อสร้างขาด เช่น แรงงานไม่มีฝีมือก็จ่ายอยู่ที่ 380 บาท และแรงงานมีฝีมือจ่าย 400-500 บาท ดังนั้น ค่าแรงที่ปรับขึ้นจึงยังไม่ส่งผลต่อต้นทุนและราคาบ้านมากนัก
 
“ขณะนี้ภาคธุรกิจอสังหาฯยังประสบปัญหาแรงงานก่อสร้างขาดแคลน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานมีฝีมือ ซึ่งหายไปช่วงโควิด 20-30% และยังไม่กลับเข้ามา เพราะเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น แต่ยังไม่ถึงกับเกิดการแย่งชิงกันมากนัก ตอนนนี้ทยอยนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทน ทำให้การก่อสร้างโครงการล่าช้าไปบ้างประมาณ 3-6 เดือน” นายพีระพงศ์กล่าว
 
‘รับเหมา’ ขอรัฐปรับราคากลางตามค่าแรง :
 
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ถ้าดูตามอัตรารายจังหวัดถือว่ามีความเหมาะสมกับสภาพภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ค่าครองชีพสูงในขณะนี้ อย่างไรก็ตามอยากขอให้ทางภาครัฐช่วยดูแลผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นด้วยทั้ง ต้นทุนวัสดุและแรงงาน ในเรื่องการปรับราคากลางและค่า K ให้เหมาะสมตามสภาพต้นทุนจริง ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพการก่อสร้างก็เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องทำอยู่แล้ว
 
“ส่วนสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ในส่วนของแรงงานไทยยังคงขาด แต่แรงงานต่างชาติมีแนวโน้มที่เข้ามามากขึ้น และแน่นอนว่าผลจากค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อต้นทุนค่าก่อสร้างโดยตรง และไม่ใช่กระทบกับค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานที่ไม่มีทักษะอย่างเดียว เราต้องพิจารณาสำหรับแรงงานที่มีทักษะ หรือแรงงานที่เราเคยจ้างสูงกว่าขั้นต่ำเดิมที่จะมีผลกระทบขึ้นไปด้วย” นายภาคภูมิกล่าว
 
‘รับสร้างบ้าน’ โอดเจอ 2 เด้ง ทั้งขาดทั้งแพง :
 
นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ส่งกระทบต่อธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นเด้งที่สอง จากปัจจุบันที่ประสบปัญหาแรงงานก่อสร้างขาดแคลนอยู่แล้ว โดยปกติค่าแรงที่ปรับขึ้นจะกระทบต่อการก่อสร้างบ้าน 1 หลัง อยู่ที่ 25-30% ยกตัวอย่าง เช่น ค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ปรับขึ้น 22 บาท จาก 331 บาท/วัน เป็น 353 บาท/วัน จะกระทบต่อราคาบ้านปรับขึ้น 3% แต่สมาคมยังรอดูภาพรวม พยายามจะยังไม่ปรับราคาบ้านขึ้นพร้อมค่าแรงในทันที เพราะก่อนหน้านี้เพิ่งปรับไป อีกทั้งรอดูสถานการณ์ราคาวัสดุก่อสร้างและปัจจัยอื่นด้วยว่ากระทบอีกมากน้อยแค่ไหน
 
“ปัญหาแรงงานขาด ประเทศไทยประสบปัญหามาตลอด แต่ยังแก้ไม่ถูกทาง และยังคงเป็นปัญหาของผู้ประกอบการเจอมาตลอดตั้งแต่โควิดระบาด ที่แรงงานหายไปจากระบบเกือบหมด เริ่มมีคนกลับเข้ามามากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการหลังภาคธุรกิจเริ่มฟื้นตัว ตอนนี้เฉพาะธุรกิจรับสร้างบ้านขาดอยู่ 20-30% หรือประมาณ 3,000 คน ทั้งการก่อสร้าง ควบคุมงาน ส่วนการแย่งชิงแรงงานยังมีอยู่ อย่างไรก็ตาม หลังรัฐเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติคือ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม คาดว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายขึ้น” นายวรวุฒิกล่าว
 
รองเท้า ‘แกมโบล’ จ่อลดโอที-ใช้โรบอต :
 
นายนิติ กิจกำจาย กรรมการบริหาร บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ “แกมโบล” (GAMBOL) เปิดเผยว่า โรงงานผลิตรองเท้าของบริษัทตั้งอยู่ถนนพระราม 2 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ค่าแรงขั้นต่ำจะปรับขึ้น 22 บาท จาก 331 บาท เป็น 353 บาท โดยภาพรวมถือว่าเป็นการปรับขึ้นแบบสมเหตุสมผล ไม่มากและไม่น้อยเกินไป แต่อยากขอให้รัฐประกาศนโยบายออกมาให้ชัดเจนว่าจะมีการปรับค่าแรงขึ้นอีกเมื่อไหร่ และควรปรับเป็นขั้นบันได เพื่อผู้ผลิตจะได้บริหารจัดการต้นทุนได้ถูกในแต่ละช่วงเวลา
 
นายนิติกล่าวว่า ยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตรองเท้าแน่นอน ขณะนี้กำลังให้ทางโรงงานและฝ่ายวิเคราะห์ต้นทุนประเมินว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมากน้อยแค่ไหน จากปัจจุบันได้รับผลกระทบจากวัตถุดิบ และราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นอยู่แล้ว
 
“เรามีแรงงานที่ต้องปรับตามค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 1,200-1,300 คน และเป็นแรงงานต่างด้าวประมาณ 60% โดยเราจะใช้วิธีการบริหารจัดการด้านเวลาและควบคุมการผลิต ซึ่งได้กำชับโรงงานให้ควบคุมต้นทุนการผลิต ให้ผลิตให้ได้ในปริมาณมากที่สุด เช่น ใน 1 คน เคยทำได้ 10 คู่ เพิ่มเป็น 11-12 คู่ เพราะถ้าผลิตได้มาก จะทำให้ต้นทุนถูกลงได้ รวมถึงจะเพิ่มการทำโอทีในบางแผนกตามความจำเป็น จากเดิมเราจะเปิดโอทีในทุกแผนก รวมถึงจะใช้โรบอตเข้ามาช่วยมากขึ้นในบางแผนกเพื่อลดการใช้แรงงาน และจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นนี้มีแนวโน้มที่จะต้องปรับราคาขายขึ้น เพราะตอนนี้ไม่ใช่ค่าแรงอย่างเดียว ยังมีต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับขึ้นด้วย แต่ต้องดูกำลังซื้อและคู่แข่งในตลาดด้วย” นายนิติกล่าว
 
‘ยำยำ’ รับขึ้นค่าแรงกระทบเต็ม :
 
นายกิตติพศ ชาญถาวรกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “ยำยำ” กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเดือนตุลาคมนี้มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของบริษัทแน่นอน เนื่องจากโรงงานซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางชัน มีพนักงานอยู่กว่า 1,000 คน หากรัฐขึ้นค่าแรงก็คงต้องขึ้นให้ทุกคน คงไม่เฉพาะแรงงานรายวันอย่างเดียว เพราะหากไม่ปรับให้อาจจะทำให้แรงงานย้ายไปอยู่ที่อื่นได้
 
“ภาคธุรกิจก็พูดไม่ออก เพราะไม่ว่าจะผลิต หรือไม่ผลิตก็ต้องจ่ายค่าแรงให้พนักงาน ส่วนโอทีก็จ่ายตามที่มีออเดอร์การผลิตเท่านั้น โดยวันที่ยื่นขอขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ได้เรียนกรมการค้าภายในไปแล้วว่าผู้ผลิตจะมีค่าแรงเข้ามาเพิ่มในต้นทุน ซึ่งกรมได้ขอความร่วมมือให้ตรึงราคาออกไปก่อน หลังอนุมัติให้ขึ้นราคา 1 บาท/ซองแล้ว” นายกิตติพศกล่าว
 
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 30 สิงหาคม 2565

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)