UAE เตรียมพัฒนา AI ผลิตฝนเทียม
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาของยูเออี (The National Centre of Meteorology – NCM) อยู่ระหว่างริเริ่มพัฒนาและทดลองผลิตฝนเทียมด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝน และแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางทรัพยากรน้ำที่ประสบปัญหามาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2558 และรับมือกับแนวโน้มปัญหาขาดแคลนน้ำที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
NCM มีแผนสร้างห้องปฏิบัติการวิจัย และห้องปฏิบัติการ AI เพื่อสังเกตการณ์และรวบรวมข้อมูลผ่านดาวเทียมสำรวจสภาพภูมิอากาศภาคพื้นดินและอากาศ เพื่อคำนวณช่วงเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมในการผลิตฝนเทียม โดยปัจจุบัน UAE ใช้วิธีส่งโดรนยิงประจุไฟฟ้าไปยังก้อนเมฆเป็นวิธีหลักเพื่อสร้างฝนเทียม
นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมของสถานีอุตุนิยมวิทยากว่า 100 แห่งทั่วประเทศ เครือข่ายเรดาร์ เครื่องบินที่ผลิตเอง และโรงงานผลิตเปลวไฟเกลือดูดความชื้นคุณภาพสูงเพื่อสร้างฝนเทียม
ที่ผ่านมา การผลิตฝนเทียมได้เป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยูเออีได้พลิกเป็นโอกาสการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ ผ่านการแข่งขันและการประกวดเทคโนโลยี นวัตกรรมเพิ่มปริมาณน้ำฝน ซึ่งได้มีนักวิจัย นักประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัยร่วมส่งประกวด และสร้างผลงานใหม่ ๆ ต่อเนื่อง และผลงานที่โดดเด่น เช่น A Hybrid Machine Learning Framework for Enhanced Precipitation NowCasting ซึ่งใช้เทคโนโลยี AI หลากหลาย จะได้รับทุนสนับสนุนโครงการเพื่อให้เกิดการใช้งานจริง
ทั้งนี้ ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่น่าสนใจเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตฝนเทียม เช่น การวิจัย Enhancing Precipitation in the UAE Using Hygroscopic Nano-Materials ที่ตรวจสอบผลกระทบและประสิทธิภาพจากการใช้สารนาโน และเครื่องกําเนิดประจุไฟฟ้าในขั้นตอนการสร้างผลึกน้ำแข็งของเมฆฝน เป็นต้น (ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี)
ที่มา globthailand
วันที่ 1 กันยายน 2565