นักเศรษฐศาสตร์เตือน "สิงคโปร์-ไทย" เสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยตามสหรัฐ
สิงคโปร์และไทย สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพารายได้จากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
นักเศรษฐศาสตร์หลายรายออกโรงเตือนว่า ประเทศในเอเชีย มีแนวโน้มได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนหาก สหรัฐอเมริกา เผชิญ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) แต่บางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้แก่ สิงคโปร์ และ ไทย จะได้รับผลกระทบมากกว่าประทศอื่น ๆ
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐ รายงานอ้างอิงความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์หลายรายระบุ สหรัฐยังคงเผชิญปัญหาเงินเฟ้อและความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยึดมั่นต่อจุดยืนในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจของประเทศถดถอย
ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐหดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ (2565) ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าสหรัฐกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค แม้หลายฝ่ายจะเห็นแย้ง อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชัดเจนว่า สหรัฐจะเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอย่างเต็มรูปแบบเมื่อใด
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า สิงคโปร์และไทย เป็นสองประเทศแรกที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบก่อนใคร หากสหรัฐเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นายชัว ฮัก บิน นักเศรษฐศาสตร์ระดับอาวุโสของธนาคารเมย์แบงก์ในสิงคโปร์กล่าวว่า สิงคโปร์มีความเปราะบางต่อปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐมากกว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เพราะสิงคโปร์พึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐเป็นอย่างมากนั่นเอง
"ผมคาดว่าสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบเป็นประเทศแรก เพราะพึ่งพาการส่งออก ทั้งยังเป็นเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก"
เมย์แบงก์ระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อช่วงปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมาว่า เมื่อพิจารณาจากข้อมูลในอดีตแล้วจะพบว่า การขยายตัวของ GDP แต่ละประเทศนั้นมีความสัมพันธ์กับวัฏจักรทางธุรกิจของสหรัฐ เพราะประเทศเหล่านี้พึ่งพาการส่งออก
ทางด้านนางเซลินา หลิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโอซีบีซีแบงก์ เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ข้างต้น โดยมองว่า ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจที่มีการเปิดเสรีเศรษฐกิจและพึ่งพาการค้าเป็นหลัก เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และอาจรวมถึงไทย จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11% ของ GDP ไทยในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยในขณะนั้นไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 428,000 ราย ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเพียง 1.5% ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ไทยอาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อจากสิงคโปร์ แต่ยังต้องรอดูช่วงเวลาที่จีนจะกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง เพื่อพิจารณาว่าเศรษฐกิจของไทยจะสามารถพลิกฟื้นได้อย่างเต็มที่หรือไม่” นักเศรษฐศาสตร์ของเมย์แบงก์กล่าว
ทางด้านนายเออร์วิน ซีห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของดีบีเอสแบงก์ ให้ความเห็นว่า นักท่องเที่ยวจีนไม่ได้เดินทางเยือนไทย เพราะการปิดประเทศ ปัจจัยดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ภายใต้ภาวะล่อแหลมมากยิ่งขึ้น
"ตราบใดที่ไทยยังไร้นักท่องเที่ยวจีน เศรษฐกิจ (ไทย) จะเผชิญความยากลำบากต่อไป โดยขณะนี้ไทยเผชิญปัญหาการเติบโตที่อ่อนแอ เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง และค่าเงินบาทตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน" นายซีห์กล่าวเตือน
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 5 สิงหาคม 2565