หอการค้าฯ ชี้ 5 เทรนด์มาแรง "อาหารแห่งอนาคต" ชิงตลาดโลก 10 ล้านล้าน
หอการค้าไทยชี้ 5 เทรนด์อาหารแห่งอนาคตมาแรง โอกาสและความท้าทายเพิ่มยอดส่งออกไทย ชิงเค้กตลาดโลก 10 ล้านล้านบาท เผย 7 เดือนแรกไทยส่งออก Future Food แล้ว 9.5 หมื่นล้าน โตพรวด 44% ตลาดอาเซียน สหรัฐฯ อียู นำ 3 อันดับแรก จี้ทุกฝ่ายเร่งปลดล็อกหลากปัญหา เพิ่มขีดแข่งขัน
สินค้าอาหารเป็นสินค้าที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต และส่งออกในอันดับต้น ๆ ของโลก จากข้อมูลช่วง 7 เดือนแรกปี 2565 ไทยมีการส่งออกสินค้าอาหาร มูลค่ารวม 906,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 698,329 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 29.7%
สินค้าอาหารที่มีการส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง มูลค่า 140,857 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 92,988 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% และสินค้าไก่ 75,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% ขณะที่สินค้าอาหารที่การส่งออกมีอัตราการขยายตัวมาก ได้แก่ น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล (73,319 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 177%, ไขมันและน้ำมันจากสัตว์และพืช (46,178 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 136% และข้าว (71,105 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 42%
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเทศคู่ค้าอาหารไทย 5 อันดับช่วง 7 เดือนแรกปี 2565 ได้แก่ 1.จีน สัดส่วน 25% มีอัตราการขยายตัว 21% 2.อาเซียน สัดส่วน 23% ขยายตัว 31% 3.สหรัฐอเมริกา สัดส่วน 10.1% ขยายตัว 33% 4.ญี่ปุ่น สัดส่วน 10% ขยายตัว 13% และ 5.สหภาพยุโรป (อียู) สัดส่วน 7 % ขยายตัว 33% ทั้งนี้จากการส่งออกอาหารที่ขยายตัวมากในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ มั่นใจว่าการส่งออกทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 10% (ปี 2564 ส่งออกได้ 1.11 ล้านล้านบาท +13%)
อย่างไรก็ดีนอกจากการส่งออกสินค้าในรูปแบบเดิมๆ ที่ยังขยายตัวได้ดีแล้ว ยังมีสินค้าอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่เป็นเทรนด์ของโลก ที่กำลังได้รับความนิยม และมีทิศทางการส่งออกที่ดีใน 5 กลุ่มได้แก่ 1.อาหารที่คำนึงถึงโลก สภาพอากาศ และความยั่งยืน 2.Flexitarian vegan foods (มังสวิรัติแบบยืดหยุ่น) 3.Whole Food (อาหารที่ปราศจากการปรุงแต่ง หรือผ่านการปรุงแต่งน้อย) 4.Immunity Boosting food (อาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน/ เสริมสร้างสุขภาพ) และ 5. Functional foods (อาหารที่มีสารอาหารหรือคุณค่าอาหารเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ) ในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น Vegan egg, Functional Fizzy Drink, Healthy Probiotic & Fiber drink
เทรนด์สินค้าอาหารต่าง ๆ เหล่านี้คาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดโลก โดย Forbes นิตยสารธุรกิจการเงินชั้นนำในสหรัฐฯ คาด Future Food ของโลกในปี 2568 จะมีมูลค่าถึง 3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 10 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 51% เมื่อเทียบกับปี 2563
สำหรับ Future Food ของไทย หลายหน่วยงานของภาครัฐมีแผนการสนับสนุนอาหารแห่งอนาคตตามแผนเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) มุ่งเน้นการผลิตอาหารที่มีความปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาพ
โดยมูลค่าการส่งออก Future Food ของไทย ปี 2564 มีมูลค่า 115,490 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7% คิดเป็นสัดส่วน 10% ของการส่งออกอาหารในภาพรวม ส่วนช่วง 7 เดือนแรกปี 2565 มีมูลค่าส่งออก 95,592 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% สัดส่วน 12% ของการส่งออกอาหารในภาพรวม โดยตลาดส่งออกสำคัญ Future food ของไทยช่วง 7 เดือนแรก ประกอบด้วย อาเซียน สัดส่วน 37% สหรัฐฯ 18% สหภาพยุโรป 11% จีน 10.9% และออสเตรเลีย 4%
ทั้งนี้ Future Food ของไทยที่มีสัดส่วนการส่งออก มากสุด 4 อันดับแรก ได้แก่ 1.อาหารเสริมสร้างสุขภาพหรืออาหารฟังก์ชั่น (Functional Foods and Drinks) สัดส่วน 88% 2.อาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม (Novel Food) สัดส่วน 10% 3.อาหารอินทรีย์ (Organic Foods) สัดส่วน 2% และ 4.อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) สัดส่วน 1%
นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า โอกาสอาหารแห่งอนาคตของไทยยังมีอีกมาก จากไทยมีวัตถุดิบที่หลากหลาย ผู้ประกอบการไทยมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ มีความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษาในการศึกษาวิจัย R&D มีเทคโนโลยีการผลิตให้เลือกหลากหลายมากขึ้น ขณะที่ความต้องการของตลาดมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงผู้บริโภคให้ความสนใจโปรตีนทางเลือกมากขึ้น
อย่างไรก็ดีความท้าทายอาหารแห่งอนาคตของไทยยังมีหลายเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของ SMEs สูง ไม่สามารถแข่งขันด้านการตลาดกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ได้, ต้นทุนเริ่มแรกในการทำ R&D และจดทะเบียนอาหารสูงมาก เฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ตัวอย่าง, เทคโนโลยีและเครื่องจักรการผลิตยังต้องพึ่งพาการนำเข้า ราคาค่อนข้างสูง,ขาดข้อมูลปริมาณผลผลิตวัตถุดิบที่สม่ำเสมอและแม่นยำ และไม่มีข้อมูลของมูลค่าทางการตลาดในประเทศ และวัตถุดิบในประเทศบางรายการไม่เพียงพอ
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 15-17 กันยายน 2565