"ม.หอการค้า" ชี้ภาคธุรกิจกังวลค่าครองชีพพุ่งกระทบต้นทุน-ปชช.จับจ่ายน้อยลง
"ม.หอการค้า" ชี้ธุรกิจกังวลค่าครองชีพพุ่งกระทบต้นทุน มองทั้งปี’65 จีดีพียังโต 3.1% รับอานิสงส์นทท.ต่างชาติขาขึ้น
เมื่อวันที่ 15 กันยายน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการความเห็นจากภาคธุรกิจถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกต่อธุรกิจไทยในปัจจุบัน จำนวน 850 ตัวอย่างทั่วประเทศ สำรวจระหว่างวันที่ 6-12 กันยายน 2565 พบว่า
ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับผลกระทบทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและกำไร แต่ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2565 ยังมีความเสี่ยงในระดับปานกลางถึงสูงที่ประเทศคู่ค้าหลักของไทย อาทิ จีน และสหรัฐฯ จะประสบกับภาวะเศรษฐกิจ ถดถอย (Recession) ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อมายังเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ คือ ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบด้านกำไร ยอดขาย และจำนวนลูกค้าที่จับจ่ายน้อยลดลง ส่วนเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย กว่า 77.1% มองว่าส่งผลกระทบต่อต้นทุน และส่งผลต่อสภาพคล่อง 43.4% ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่ม 5% ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นไป นั้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ อาทิ ภาคการท่องเที่ยว ค้าส่ง และภาคการเกษตร กว่า 61.3% อีกทั้งปัจจุบันไทยยังได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่คาดว่าส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจประมาณ 5,000 ล้านบาท และยังต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง หรืออยู่ที่ 7% ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ ที่ทำให้ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงาน ดังนั้น การที่รัฐบาลยังคงตรึงราคาพลังงานจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว
“ทางศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่าภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ จะมีผลกดดันให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในปี 2565 ให้ลดลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อน แต่ถ้าหากสามารถผลักดันให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงหรือมากกว่า 10 ล้านคน ก็จะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวไปได้เกือบทั้งหมด ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยทะลุ 10 ล้านคน ซึ่งจะสร้างเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจกว่า 2.4 แสนล้านบาท และยังคงคาดการณ์เดิมว่าในปี 2565 จีดีพีจะอยู่ที่ 3.1% ส่งออกอยู่ที่ 5-6% และคาดการณ์ว่าในปี 2566 จีดีพีจะเติบโตอยู่ในกรอบ 3-3.5% อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์พยากรณ์จะมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ต่อไป” นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 4/2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งขึ้น แต่รัฐบาลต้องออกมาตรการ หรือหาแนวทางป้องกันปัญหาจากเศรษฐกิจโลกด้วย เนื่องจากค่าเงินบาทยังอยู่ในช่วงแกว่งตัว หรือยู่ที่ 36.5-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อกานำเข้าสินค้า ดังนั้น ต้องหามาตรการอื่นๆ เข้ามาเป็นตัวช่วยประคองเศรษฐกิจ เช่น การสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก เป็นต้น นอกจากนี้ ในเรื่องของการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่หลังจากนี้อาจจะได้เห็นการปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง หรืออาจจะขึ้นไปอยู่ที่ 1.25% ในช่วงปลายปี 2565 ยืนยันว่าไม่ใช่ตัวบั่นทอนหลัก แต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยสร้างความกังวลต่อภาคเกษตร ที่มีความกังวลในทุกปัจจัยลบ โดยเฉพาะเรื่องหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เป็นผลให้ในระยะนี้ เศรษฐกิจไทยยังเติบโตในลักษณะ เคเชฟ (K) อยู่
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 15 กันยายน 2565