ผลกระทบต่อลิทัวเนียจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน  และโอกาสหันมามองประเทศไทย

ลิทัวเนียอาจเป็นประเทศที่ไม่ค่อยคุ้นหูนักสำหรับคนไทยบางคน และยังไม่ค่อยมีบริษัทสัญชาติไทยเข้าไปลงทุนมากนัก แต่อาจเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจในการร่วมลงทุน และเจรจานำเข้า-ส่งออกสินค้าไม่น้อย โดยลิทัวเนียเป็นหนึ่งในประเทศแถบภูมิภาคบอลติกของยุโรป และมีความล้ำหน้าด้านอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีสารสนเทศ  และเทคโนโลยีชีวภาพ 
 
นอกจากนี้ สถาบัน IMD ยังได้จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน (World Competitiveness Center) ของลิทัวเนียให้อยู่ในลําดับที่ 29 จากทั้งหมด 63 ประเทศ อย่างไรก็ตาม ลิทัวเนียกำลังเผชิญความท้าทายด้านการค้าจากสถานการณ์ภายในภูมิภาค 
 
สํานักสถิติลิทัวเนียรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer price index – CPI) ล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 141.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 139.8 และมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 21.3 ซึ่งนับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2539 สืบเนื่องมาจากราคาอาหารและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทขนมปัง ธัญพืช ชีส ไข่ และเนื้อสัตว์  ในขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.1 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer confidence index) ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 12 ซึ่งเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามในยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและสินค้าบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นในลิทัวเนีย 
 
ธนาคารแห่งลิทัวเนีย (Bank of Lithuania) รายงานว่า ระบบการเงินของลิทัวเนียกำลังเผชิญกับความเสี่ยง 3 ประการ ได้แก่ 
 
(1) ผลกระทบจากสงครามในยูเครนต่อการหยุดชะงักของการนําเข้า-ส่งออก ซึ่งลิทัวเนียมียอดการส่งออกไปรัสเซีย 1 ใน 10 ของการส่งออกทั้งหมด และยูเครนและเบลารุสรวมกันร้อยละ 7 ของการส่งออกทั้งหมด ทําให้ราคาอาหาร พลังงานและวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น
 
(2) ราคาตลาดที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและอยู่ในอัตราสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2550 และอสังหาริมทรัพย์ในลิทัวเนียมีการประเมินราคาที่สูงเกินจริง คิดเป็นร้อยละ 10 และ (3) การคงอยู่ของอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภค และอาจส่งผลต่อความสามารถในการชําระหนี้หรือเงินกู้ 
 
การหยุดชะงักของการนำเข้า-ส่งออกสินค้ากับบางประเทศ ทำให้ลิทัวเนียหันไปนำเข้าสินค้าจากเบลารุสเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทกระจก ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เหล็ก ไขมันและน้ํามันพุ่ง  อย่างไรก็ดี โปแลนด์ ลัตเวีย และเยอรมนียังคงเป็นตลาดส่งออกหลักของลิทัวเนีย ตามด้วยสหรัฐฯ  ในขณะที่มูลค่าการส่งออกไปจีนกลับลดลงเกือบร้อยละ 87 
 
แนวโน้มช่วงครึ่งหลังของปี 2565 
 
นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวของปีนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลําบากสําหรับลิทัวเนีย เนื่องจากอัตราการว่างงานและการล้มละลายมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ Food Bank ของลิทัวเนียได้กล่าวว่า จะเกิดความต้องการทางอาหารที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าประเภทขนมปัง นอกจากนี้ ความพยายามของ European Central Bank ที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยล่าสุดที่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นร้อยละ 0.25 และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกในเดือนกันยายนนี้ จะส่งผลให้ต้องชําระคืนเงินกู้เป็นจํานวนที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนประธานคณะกรรมการ Bank of Lithuania กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่มีภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่อัตราเงินเฟ้อได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชากร 
 
โอกาสของประเทศไทยและภูมิภาค
 
ถึงแม้ว่าลิทัวเนียจะอยู่ในลําดับที่ 105 ของตลาดส่งออกของไทย แต่แนวโน้มการค้าของลิทัวเนียในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะยังคงเป็นเชิงบวก เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลในการกระจายตลาดส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกที่ประสบความสําเร็จ และการขยายเครือข่ายภารกิจของคณะทูตานุทูตได้ช่วยให้ลิทัวเนียกระจายการค้าและเพิ่มความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแสวงหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ ๆ ในประเทศแถบอินโด-แปซิฟิก รวมถึงไต้หวันและไทย ซึ่งช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ยอดการส่งออกไปยังประเทศอินโด-แปซิฟิก มองเห็นสัญญาณการเติบโตที่ดี โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 56.5 อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านการขาดแคลนอาหารที่อาจจะทวีคูณเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวอาจผลักดันให้ลิทัวเนียหันมามองหาการนำเข้าสินค้าการเกษตรจากประเทศในแถบนี้ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้านอาหารและสินค้าการเกษตรก็น่าจะสามารถดึงดูดผู้ประกอบการจากลิทัวเนียได้ไม่ยาก (ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน)
 
ที่มา globthailand
วันที่ 16 กันยายน 2565   

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)