จับตาพายุโนรู GISTDA คาดเข้าสู่ไทย 28-29 ก.ย. 65 ภาคอีสานพื้นที่เสี่ยง
จับตาพายุโนรู GISTDA เผยภาพถ่ายดาวเทียมฮิมาวาริ 8 ของญี่ปุ่น กำลังขึ้นฝั่งเวียดนาม คาดเข้าสู่ไทยวันที่ 28-29 ก.ย. 65 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพื้นที่เสี่ยง
วันที่ 27 กันยายน 2565 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ติดตามภาพพายุโนรู ที่กำลังเคลื่อนตัวจากตอนกลางของทะเลจีนใต้ มีทิศทางเคลื่อนที่กำลังจะขึ้นฝั่งเวียดนามด้วยความเร็วลมประมาณ 80-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งความเร็วลมอ่อนลงกว่าวานนี้
และกำลังเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามในช่วงสายของวันนี้ จากนั้นจะเคลื่อนผ่านประเทศลาว เข้าสู่ประเทศไทยประมาณวันที่ 28-29 กันยายน 2565 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจะส่งผลให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีฝนตกมาก
สำหรับการเคลื่อนตัวของพายุโนรูในครั้งนี้ คาดว่าพื้นที่น่าเป็นห่วงคือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำชีและมูล เพราะปริมาณน้ำในลำน้ำขณะนี้หลายจุดเกินความจุ จนส่งผลให้บางพื้นที่มีน้ำท่วม และหากมีฝนจากพายุเข้ามาอีกจะทำให้มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนนี้ ส่วนใหญ่มีน้ำมากเกือบเต็มความจุแล้ว ขณะนี้มีพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณลุ่มน้ำชีและมูล ได้รับผลกระทบแล้วประมาณ 3 แสนไร่ คาดว่าเมื่อพายุโนรูเคลื่อนตัวเข้ามาจะทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น จนทำให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพราะการเคลื่อนตัวของพายุโนรู อาจมีการเปลี่ยนทิศทางหรือลดความรุนแรงจากปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบได้ด้วยเช่นกัน
รายงานข่าวระบุว่า ข้อมูลจากดาวเทียม COSMO-Skymed-2 วันที่ 26 กันยายน 2565 พบน้ำท่วมขังบางส่วนในพื้นที่ 4 จังหวัดลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ทั้งสิ้น 54,889 ไร่ แบ่งออกเป็น #อุบลราชธานี 38,999 ไร่ #ศรีสะเกษ 10,458 ไร่ #อำนาจเจริญ 3,201 ไร่ และ #ยโสธร 2,241 ไร่
ในขณะที่พื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 27,283 ไร่ นอกจากนี้ยังพบน้ำท่วมขังในพื้นที่เกษตรกรรมอื่น ๆ พื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักสายรอง ชุมชนที่อยู่อาศัย และเส้นทางคมนาคมบางส่วน
สถานการณ์ดังกล่าว GISTDA ได้ส่งต่อข้อมูลภาพจากดาวเทียมให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน การติดตาม เพื่อประเมินสถานการณ์ได้ทันท่วงที
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมขังในช่วงนี้ GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 27 กันยายน 2565